สกสว. จัดเวทีเสวนา “Blockchain Technology and Digital Economy กับการเตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศ” ปลุกพลังคนไทยพร้อมรับเทคโนโลยี Blockchain ปลัด อว. ชูนโยบายสร้างคนพร้อมใช้แบบ ‘ไร้ปริญญา’ (Non Degree Program) ลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบัน เน้นสร้างพื้นที่ทดลองการเรียนรู้แบบ Sandbox
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จัดงานเสวนา Brainpower Symposium ในหัวข้อ “Blockchain Technology and Digital Economy กับการเตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศ” ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในการเตรียมกำลังคนในยุคที่มีการเกิดของเทคโนโลยีใหม่อย่าง Blockchain และระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้แทนภาคเอกชน และผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง
โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า Blockchain นั้นแท้จริงแล้ว เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ใช่มีความสำคัญแก่ภาคการเงินเท่านั้น แต่คือ รูปแบบหนึ่งในการจัดเก็บ ถ่ายทอด รวมถึงประมวลผลข้อมูลที่มีเอกลักษณ์และมีประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย ดังนั้น จึงมีการประยุกต์ไปใช้กับระบบต่าง ๆ เช่น การแพทย์ เกมและซอฟต์แวร์ ระบบควบคุมพลังงาน ระบบการขนส่งสินค้า เป็นต้น เทคโนโลยีดังกล่าวนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนและส่งผลกระทบในหลายวงการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมของกำลังคนของประเทศให้พร้อมและสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี และไม่ได้เป็นเพียงผู้ใช้งาน แต่เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีของตนเองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไปได้ เวทีเสวนาในวันนี้จึงเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองแนวคิดที่นำไปสู่การพัฒนาและการวางแผนพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศให้สอดรับกับเทคโนโลยี Blockchain และเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป
ในขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง Blockchain รวมถึงเรื่อง Cryptocurrency หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเรื่องที่สังคมกำลังให้การเฝ้ามอง ที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีของประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐ และ หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวง อว. กับการสร้างความมั่นคง ความมั่นใจ รวมถึงความปลอดภัย ให้กับประชาชน ต่อการใช้บริการเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ทั้งในส่วนของการกำหนดนโยบาย สนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและสร้างเทคโนโลยี ที่มีความแม่นยำ และทันสมัย ทัดเทียมกับนานาประเทศ รวมถึง การพัฒนาคน ที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะที่พึงประสงค์ที่จะเข้ามาสร้างเทคโนโลยี และจัดการเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนการสร้างการตระหนักรู้ เรื่องเทคโนโลยีให้รู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างเท่าทัน โดยผ่านกลไกที่ทางกระทรวง อว. ให้ความสำคัญได้แก่
1. การพัฒนากำลังคน ผู้ใช้งานกำลังคนต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ภาคการผลิตหรือภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน
2. ใช้กลไก Higher Education Sandbox เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนทั้งสถาบัน ผู้เรียน และผู้สอน
3. มุ่งเน้นทักษะที่พึงประสงค์ผ่าน Non-Degree Program เพื่อพัฒนาทักษะกำลังคนผ่านการ Re-skill/Up-Skill ให้ตอบสนองทันต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สำหรับนโยบายด้านการเตรียมกำลังคนที่ทาง อว. มุ่งเน้นในปัจจุบัน คือการออกแบบการเรียนรู้ตามความต้องการของผู้เรียนและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป มุ่งเน้นให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบไร้ปริญญา (Non-Degree Program) แต่สามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บูรณาการเรียนรู้ข้ามสถาบัน กล่าวคือให้นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนในสาขาที่สนใจเพื่อนำมาประยุกต์ใช้จริงได้ แม้จะเป็นของต่างสถาบันหรือมหาวิทยาลัยได้ นอกจากนี้ อว. ยังมุ่งเน้นด้าน ‘Higher Education Sandbox’ หรือ การสร้างพื้นที่ทดลองใช้กระบวนการต่าง ๆ เพื่อพัฒนากำลังคนให้เหมาะสม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโลกยุคดิจิทัล
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.