นางสาวขนิษฐา สหเมธาพัฒน์ กรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 90 ไร่ 9,000 ต้น ซึ่ง วว. และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมจัดขึ้น เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ในพื้นที่ วว. จำนวน 3 แห่ง รวม 5 ไร่ ได้แก่ 1. สำนักงานใหญ่ เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี 2. ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย บางเขน กรุงเทพฯ และ 3 .ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา บางปู จ.สมุทรปราการ มุ่งให้เกิดพื้นที่สีเขียวและต้นแบบป่านิเวศ ป่ากินได้ ป่าเศรษฐกิจ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ สนับสนุนเป้าหมายให้ประเทศไทยมุ่งสู่ Net Zero Emissions โอกาสนี้ คณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้าง วว. เข้าร่วมกิจกรรมและร่วมปลูกต้นไม้โดยพร้อมเพรียงกัน ในวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ณ สำนักงาน วว. กรุงเทพฯ และปริมณฑล
“...วว. นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ยกระดับการปลูกป่าด้วยการใช้เทคโนโลยีการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาร่วมกับการปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างสภาวะการพึ่งพากับต้นไม้ชนิดที่เป็นพืชอาศัยแบบเกื้อกูลกัน และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ปัจจุบันดำเนินการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคแล้ว 2 แห่ง คือ 1.สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับจังหวัดนครราชสีมาและเป็นป่าสาธิตการปลูกไม้เศรษฐกิจ เสริมสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนรอบสถานี และ 2.สถานีวิจัยลำตะคอง เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ สำหรับการปลูกไม้ยืนต้น/ไม้กินได้ เพิ่มพื้นที่และฟื้นฟูป่าชุ่มน้ำในพื้นที่ใกล้ลำน้ำลำตะคอง รวมทั้งใช้เป็นแหล่งเรียนรู้การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตและการใช้ประโยชน์พืชพื้นเมืองและเห็ด...” กรรมการบริหาร วว. กล่าว
นางสาวขนิษฐา สหเมธาพัฒน์ กล่าวต่อว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นการปลูกป่าในเมือง ในพื้นที่ วว. จำนวน 3 แห่ง รวม 5 ไร่ ได้แก่ 1.เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี 2.บางเขน กรุงเทพมหานคร และ 3.บางปู จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียวในเมืองและส่งเสริมภูมิทัศน์ของสำนักงาน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มก๊าซออกซิเจน ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดอุณหภูมิความร้อนในเขตเมืองกรองฝุ่นละออง ลดมลพิษ นับเป็นการช่วยสนับสนุนให้เกิดพื้นที่สีเขียวในเมือง ช่วยให้เกิดการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 capture) สนับสนุนเป้าหมายให้ประเทศไทยมุ่งสู่ Net Zero Emissions และในอนาคต วว. จะขยายผลโครงการฯ พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ให้ครอบคลุมไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศต่อไป
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวแสดงเจตนารมณ์ว่า การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติปลูกป่า “90 ไร่ 9,000 ต้น” มุ่งให้เกิดพื้นที่ต้นแบบป่านิเวศ ป่ากินได้ ป่าเศรษฐกิจ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้นแบบสำหรับการสร้างป่าครัวเรือน เพื่อแหล่งอาหารและสร้างรายได้อีกทั้งยังเป็นการร่วมสนองพระปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การเสริมสร้างและปลูกฝังให้ราษฎรเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ ทั้งนี้จากความสำเร็จของ วว. ในการถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกไม้เศรษฐกิจ ร่วมกับเทคโนโลยีเห็ดป่าไมคอร์ไรซาในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ เช่น จังหวัดเชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ นครราชสีมา ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว และสงขลา พบว่า การนำเห็ดไมคอร์ไรซามาใช้ประโยชน์ร่วมกับการปลูกไม้เศรษฐกิจ ส่งผลให้พืชเจริญเติบโต แข็งแรง สมบูรณ์มากกว่าพืชที่ไม่ได้ใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา 2-3 เท่า อีกทั้งเกษตรกรอละชุมชนในพื้นที่ยังได้ผลผลิตของเห็ดป่าที่เพาะร่วมกับต้นไม้ นับเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ และยังสามารถช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้ยั่งยืน
“...การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่สำนักงานของ วว. ทั้ง 3 แห่งในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งมิติของการปลูกป่า คือ มุ่งปลูกไม้ยืนต้น ได้แก่ ตันกัลปพฤกษ์ และไม้ดอกไม้ประดับ ได้แก่ ไทรทิส ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา ในการช่วยเสริมการเจริญเติบโตของพืช เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างยั่งยืน ช่วยเพิ่มก๊าซออกซิเจน ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดอุณหภูมิความร้อนในเขตเมือง กรองฝุ่นละอองและลดมลพิษ..” รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.