กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ โปรแกรมสารสกัดธรรมชาติเพื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายใต้กลุ่มโปรแกรมอาหารและส่วนผสมฟังก์ชั่นบนฐานการผลิตที่ยั่งยืน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุน 3 ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน The international innovation fair for cosmetic and perfume industry เมื่อวันที่ 12-13 ตุลาคม 2565 ณ ห้างสรรพสินค้า Carrousel du Louvre กรุงปารีส เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมสารสกัด/สารออกฤทธิ์จากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติด้านการชะลอวัย (Anti-aging)
โดยได้รับเกียรติจาก คุณกนกลักษณ์ โพธิ์ไทรย์ อัครราชทูตที่ปรึกษา ซึ่งได้รับมอบหมายจากเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการพร้อมเยี่ยมชมผลงาน และในโอกาสนี้ คุณนิสากร จึงเจริญธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านบริหาร ศลช. (TCELS) ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมด้วย ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย (รักษาการ) รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สายงานบริหาร และ ดร.พัชราภรณ์ วงษา ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง ศลช. ร่วมต้อนรับและพูดคุย รวมทั้งได้พบปะกับผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในครั้งนี้ด้วย ได้แก่ บริษัท Thai-China Flavours and Fragrances Industry บริษัท R&D Research Innovation and Supply และ บริษัท idea2expert
ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย (รักษาการ) รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการโปรแกรมนวัตกรรมสารสกัดธรรมชาติเพื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพ สวทช. กล่าวว่า “ผู้ประกอบการ 3 รายที่ได้รับการสนับสนุนเข้าร่วมงานฯ ได้แก่ บริษัท เดวิด เอนเตอร์ไพร์ส แอนด์ ดีวีลอปเมนต์ จำกัด บริษัท ไอเดียทูเอ็กซ์เพิร์ท จำกัด และบริษัทอุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน จำกัด เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกจากการเข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอางสู่ตลาดต่างประเทศ (Cosmetic Innovation and Business Link) ซึ่งเป็นความร่วมมือของพันธมิตรหลายฝ่าย ได้แก่ ทีเซลส์ (TCELS) สวทช. โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยนเรศวร
โดยในการคัดเลือกจะผ่านการประกวดนวัตกรรมเครื่องสำอาง (CosmeNovation) เพื่อแสวงหาผู้ประกอบการไทยที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมสารสกัด หรือสารออกฤทธิ์จากธรรมชาติ เพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์เวชสำอาง โดยเน้นสารที่มีคุณสมบัติด้านการชะลอวัย (Anti-aging) โดยผู้ประกอบการจะได้ร่วมกับที่ปรึกษาวิจัยจากหน่วยงานพันธมิตรเพื่อพัฒนาโครงการวิเคราะห์ ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารสกัด/ผลิตภัณฑ์ ผ่านกลไกการสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ของ สวทช. รวมถึงมีการเสริมทักษะด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านหลักสูตรการอบรม Master Class เช่น ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เวชสำอาง การจัดทำแผนธุรกิจ การเจราธุรกิจ รวมถึงการเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินธุรกิจด้านเวชสำอาง/สารสกัดจากตัวแทนผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น”
“ทั้งนี้ภายในงาน COSMETIC 360 ผู้ประกอบการได้เข้าร่วมกิจกรรมสำคัญต่างๆ เช่น การจัดแสดงสินค้า/ผลิตภัณฑ์ การเจรจาธุรกิจร่วมกับบริษัทเครื่องสำอางชั้นนำระดับโลกรวมถึงรับทราบและรับรู้แนวโน้ม/ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและตลาดโลก เป็นต้น อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถใช้องค์ความรู้ นวัตกรรม และประสบการณ์ที่ได้รับมาใช้เป็นแนวทางในการต่อยอดและพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยที่สามารถแข่งขันในตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศต่อไป” ดร.อุรชา กล่าวทิ้งทาย
ดร.พัชราภรณ์ วงษา ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง ศลช. กล่าวว่า “ศลช. หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ Cosmetic Valley สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้มีโอกาสขยายตลาดในระดับสากล ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว คือ การเข้าร่วมงาน “Cosmetic 360” และร่วมประชุมประจำปี Global Cosmetics Cluster (GCC) โดย ศลช. สนับสนุนพื้นที่จัดแสดงในงาน โดยให้หน่วยงานเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมในนามประเทศไทย เพื่อแสวงหาความร่วมมือในระดับสากล รวมถึงการติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางภายใต้คลัสเตอร์ที่เป็นเครือข่ายของ GCC ซึ่งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งแสวงหาตลาดใหม่ๆ และยังเป็นโอกาสในการพบปะหารือแนวทางความร่วมมือ เสาะหาแหล่งทุน การร่วมมือด้านงานวิจัยและการพัฒนาธุรกิจในต่างประเทศ”
“ในปี 2560 ศลช. ได้ริเริ่มโครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอางสู่ตลาดต่างประเทศ (Cosmetics Innovation and Business Link) หรือเรียกสั้นๆ ว่า CIB โดยปี พ.ศ. 2563 ถึงปัจจุบัน ศลช. ได้ขยายการเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกันกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร สมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย และหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งตอบโจทย์สำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย ที่มีศักยภาพโดดเด่นด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ/สมุนไพร ให้ได้มาตรฐานสากลและเป็นที่ต้องการของตลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมให้กับประเทศ
จากการจัดโครงการ CIB ที่ผ่านมามีบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมงาน 2022 Cosmetic 360 จำนวน 3 ราย คือ
จากการประชุมสมาชิก GCC และการเข้าร่วมงาน 2022 Cosmetic 360 รวมถึงการดูงานที่โรงงาน Givaudan และห้องปฏิบัติการของ Institute of Organic and Analytical Chemistry (ICOA) ภายใต้โปรแกรม Cosmetosciences ทำให้ได้เห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติสำหรับเครื่องสำอาง และน้ำหอม ที่รุดหน้าเป็นอย่างมากในประเทศฝรั่งเศส มีการนำ AI มาใช้ทั้งในส่วนของ R&D และ Operation การพัฒนาผลิตภัณฑ์เน้นวัตถุดิบจากพืช ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน และเวลา”
“ที่สำคัญบริษัททั้งสามของไทยได้มีการเจรจาธุรกิจกับบริษัทรายใหญ่รายเล็กที่มาร่วมงาน ซึ่งให้ความสนใจสารสกัดสมุนไพรไทย และมีแนวโน้มที่จะเกิดดีลทางธุรกิจในอนาคต รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยภายใต้โปรแกรม Cosmetosciences อีกด้วย” ดร.พัชราภรณ์ กล่าวปิดท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.