เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ไอริส คอนซัลติ้ง จำกัด (ไบร์ทเทอร์บี) ในโครงการแพลตฟอร์มพัฒนาทักษะแห่งอนาคตรองรับการลงทุนภาคการผลิตและบริการ โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. และ นางสาวเพ็ญสุดา เหล่าศิริพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอริส คอนซัลติ้ง จำกัด เป็นผู้ร่วมลงนาม และได้รับเกียรติจาก ศาตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้กล่าวเปิดงาน
ดร.เอนก กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ในการยกระดับทักษะบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ตามความต้องการของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม โดยขณะนี้ ในแพลตฟอร์มมีองค์ความรู้ที่ผ่านการยอมรับจากบริษัทและองค์กรชั้นนำ ที่นิสิตและนักศึกษาทั่วประเทศ สามารถเข้าไปเรียนรู้เพื่อยกระดับทักษะตนเอง ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากกว่า 250 หลักสูตร รองรับผู้ใช้งานได้มากกว่า 2 ล้านคน นับเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาในมหาวิทยาลัย บุคลากรทุกช่วงวัย รวมถึงผู้ที่ต้องการเปลี่ยนสายงานให้สอดคล้องกับอาชีพที่หลากหลายและตำแหน่งงานใหม่ ๆ เพื่อยกระดับทักษะให้พร้อมเข้าสู่การทำงานในตำแหน่งพรีเมี่ยมของบริษัทชั้นนำในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือเร่งให้ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรที่มีทักษะสมรรถนะสูง สามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการจัดเวทีบรรยายพิเศษร่วมแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “มุมมองผู้บริหารในการเตรียมความพร้อมเพื่อความสำเร็จในอนาคต” Executive Viewpoints on Future Critical Capabilities for Success Perspectives of HR Strategy x YOU as a Talent! โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ นายวันจักร มนตรีวรรณ รองกรรมการ บริษัท เอสซีจี เอชอาร์ โซลูชั่นส์ จำกัด นางสาวพัชมน วงศ์ฝาย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาบุคลากร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด นางสาวหทัยรัตน์ ตรรกนิพนธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส และผู้บริหารฝ่ายการเรียนรู้และภาวะผู้นำ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด นางสาวอุษณี อภิรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล บริษัท แกล็กโซสมิทไคลน์ (ประเทศไทย) จำกัด และ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.
ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงความท้าทายที่ธุรกิจและองค์กรต้องรับมือในปัจจุบัน ในมุมของ สอวช. ที่ทำงานด้านนโยบาย ต้องพยายามมองดูว่าโลกปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไร ในเรื่องการศึกษา พัฒนาอาชีพ พัฒนาคนให้มีคุณภาพต้องทำอย่างไร นี่จึงไม่ใช่แค่เพียงความท้าทาย แต่ถือเป็นโอกาสด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ชีวิตแบบ 3 ขั้น (Three-stage Life) คือเริ่มจากการเรียน ทำงาน และเกษียณ เป็นชีวิตแบบหลากหลายขั้น (multi-stage life) ที่สามารถเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย หรือทำงานแล้ว สามารถออกมาพัฒนาทักษะ ปรับเปลี่ยนทักษะการทำงาน (upskill/reskill) และเปลี่ยนอาชีพไปอีกได้
ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า โครงการ STEP ถือเป็นโมเดลต้นแบบที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษา คณะศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ให้พร้อมจบไปเป็นครูมืออาชีพ โดยจะนำองค์ความรู้และเทคนิคการสอนภาคปฏิบัติจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) สถาบันผลิตครูชั้นนำของสหรัฐอเมริกา มาถ่ายทอดให้กับคณาจารย์และนิสิตนักศึกษา “เน้นการฝึกปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี” เพื่อใช้ในการสอนได้จริง สอดรับงานวิจัยหลายชิ้นซึ่งระบุว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษาครั้งใหญ่ โดยเฉพาะครูวิชาชีพในอนาคตต้องเพิ่มทักษะการสอนด้วยกระบวนการฝึกประสบการณ์จริงที่เข้มข้นมากกว่าทฤษฎี
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงตอบโจทย์การพัฒนาทักษะแห่งอนาคตรองรับการลงทุนภาคการผลิตและบริการ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการพัฒนาบุคลากรของประเทศ จากการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถปรับตัวในการจัดการศึกษา และรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้น รวมถึงภาคเอกชนจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ในการพัฒนาทักษะของบุคลากรโดยการจัดการเรียนรู้รูปแบบการร่วมดำเนินการ ระหว่างภาคการศึกษา และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ส่งผลให้บุคลากรของประเทศ ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะที่ตอบโจทย์อนาคต
“โครงการนี้นอกจากจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว ยังเป็นโอกาสให้นักศึกษาสามารถรู้ถึงความต้องการของผู้ประกอบการ รู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อนจุดแข็งอะไร ต้องพัฒนาอะไร นำไปสู่การจับคู่กับสายงานที่สนใจ เป็นโอกาสเชื่อมโยงไปสู่การทำงานได้ทันทีหลังเรียนจบ และหากต้องการสะสมหน่วยกิต ในอนาคตก็มีแนวทางนำชั่วโมงการเรียนมารวมอยู่ในธนาคารหน่วยกิต (credit bank) เพื่อโอนไปเป็นหน่วยกิตในสถาบันการศึกษา และเปลี่ยนเป็นประกาศนียบัตรหรือใบปริญญาได้” ดร.กิติพงค์ กล่าว
ด้านนางสาวเพ็ญสุดา กล่าวว่า แพลตฟอร์มนี้มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนและตอบโจทย์คนใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา 2) นิสิต/นักศึกษาและบุคคลทั่วไป 3) องค์กรเอกชนและรัฐวิสาหกิจ เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยในการเตรียมและพัฒนาคนเก่งที่ตอบโจทย์ตามความต้องการของตลาด โดยในแพลตฟอร์มจะมีสมรรถนะในการทำงานที่สำคัญต่อทุกๆ บทบาทและสายอาชีพ ให้เรียนรู้รวมอยู่ 40 สมรรถนะ สมรรถนะในหน้าที่งานที่สำคัญต่อทุกๆ บทบาทและสายอาชีพ รวม 6 สมรรถนะ และสมรรถนะในหน้าที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละบทบาทและสายอาชีพ รวม 40 กลุ่มอาชีพ ให้สามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความสนใจ ซึ่งขั้นตอนการสรรหาคนเก่ง จะมีไลฟ์แนะนำงานและโอกาสในสายอาชีพ ไลฟ์เลิร์นนิ่งหัวข้อสมรรถนะที่ต้องการ กำหนดโปรไฟล์สำหรับตำแหน่งงาน ประเมินสมรรถนะที่จำเป็นตามโปรไฟล์ ประเมินศักยภาพผ่านผลงานจริง ตั้งโจทย์ประเมินหลังไลฟ์เลิร์นนิ่ง ตามด้วยการสัมภาษณ์พร้อมด้วยผลประเมิน ก่อนจะเข้าสู่การหาแนวทางการเรียนรู้ พัฒนาทักษะที่ตรงกับตัวบุคคลต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าใช้งานแพลตฟอร์มนี้ได้ผ่าน QR Code หรือเว็บไซต์ https://www.brighterbee.co/ โดยจะเริ่มเปิดให้ใช้งานในเฟสแรก สำหรับนิสิต/นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 และเปิดให้ใช้งานในเฟสสอง สำหรับทุกคน จะเข้าใช้งานได้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้งานตามเป้าหมาย 2 ล้านคนภายในปี 2566
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.