กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “วัฏจักรต้นแบบการเจริญเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนของพื้นที่จังหวัดน่าน” กับเครือข่ายพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยชุมชนน่าน ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ และหอการค้าจังหวัดน่าน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของประเทศ มุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาระบบนิเวศ การอนุรักษ์/ใช้ประโยชน์ทรัพยากรและสมุนไพรพื้นถิ่นแบบครบวงจร พร้อมจัด“กิจกรรมปลูกต้นไม้เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ” เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพรัชกาลที่ 9 วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2565 ณ บ้านกิ่วม่วง อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. และจังหวัดน่าน มีความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ การใช้เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรและพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดน่าน ซึ่งผลการดำเนินงานประสบผลสำเร็จ ช่วยตอบโจทย์และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ผู้ประกอบการของจังหวัดน่านอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบัน วว. โดย สถานีวิจัยลำตะคอง ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรจังหวัดน่าน ดำเนิน “โครงการวัฏจักรต้นแบบการเจริญเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนของพื้นที่จังหวัดน่าน” และมีการลงนามบันทึกความร่วมมืออย่างเป็นทางการในวันนี้ เพื่อร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการปลูกสมุนไพร การวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร การพัฒนาระบบนิเวศ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ของทรัพยากรสมุนไพรพื้นถิ่นแบบครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนากระบวนการผลิตสมุนไพรในเชิงอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ และการใช้ประโยชน์จากการประเมินปริมาณการปลดปล่อยและการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากพืชสมุนไพร เชื่อมั่นว่าการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งเป็นการดำเนินงานครบวงจร จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดน่านให้ยั่งยืนสืบไป
ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการลงนามความร่วมมือแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรม “ปลูกต้นไม้เนื่องในโอกาสวันพ่อแห่งชาติ” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินงานโครงการฯ ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อจัดทำเป็นแปลงสาธิตการปลูกสมอพิเภก สมอไทย และมะขามป้อม สำหรับเป็นพืชร่วมกับไม้ยืนต้นในแปลงของเกษตรกร เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ของชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงจัดทำแปลงสาธิตสำหรับการปลูกและการให้ผลผลิตของโมโรเฮยะ (พืชในกลุ่มปอกระเจาฝักยาว) ในพื้นที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปใช้ประเมินการปลดปล่อยและการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในพืชอายุสั้น นอกจากนี้กิจกรรมการปลูกต้นไม้ยังเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2565
นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวในโอกาสให้เกียรติเป็นสักขีพยานว่า การดำเนินงานโครงการวัฏจักรต้นแบบการเจริญเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนของพื้นที่จังหวัดน่าน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของจังหวัดน่าน ที่มุ่งเน้นพลิกโฉมการพัฒนา เดินหน้าสร้างเมืองน่านให้เป็นเมืองแห่งความสุข ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดี สังคมร่มเย็น เศรษฐกิจได้รับการต่อยอด สร้างมูลค่าอย่างสร้างสรรค์ และเติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ด้าน “สุขเศรษฐกิจสร้างสรรค์และมูลค่าสูง” ที่มุ่งเน้น ส่งเสริม สนับสนุน การเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ทั้งในเชิงโครงสร้างและภาคการผลิต อุตสาหกรรมและบริการ ด้วยองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าสูง เชื่อมั่นว่าผลจากการดำเนินงานในระยะเวลาอันใกล้จะก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในด้านพืชสมุนไพร พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกร ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้จังหวัด ตลอดจนก่อให้เกิดมูลค่าด้านเศรษฐกิจของจังหวัดน่านอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
“...จังหวัดน่านเสียเปรียบพื้นที่อื่นๆ ในแง่เป็นจังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกรรม แต่ห่างไกลตลาด ทำให้ค่าขนส่งสูง ความร่วมมือของ วว. และหลายๆภาคส่วนในวันนี้จะช่วยตอบโจทย์จังหวัดน่านในเรื่องการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วย วทน. และจะนำไปสู่ความยั่งยืนของเศรษฐกิจต่อไป...” ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านกล่าว
นางสาวสุภาพร รุ่งเลิศเกียรติ ผู้จัดการบริหารวิจัยและพัฒนา บริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าบริษัทไลอ้อน ประเทศไทย ยึดถือธุรกิจคู่คุณธรรมเพื่อการเดิบโตอย่างยั่งยืนและเป็นสุข รวมถึงแนวทางในการพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีสู่ผู้บริโภค ในปี 2022 มุ่งเน้นเรื่องของ ESG และ Sustainability ทำให้เกิดโครงการวัฏจักรต้นแบบการเจริญไปด้วยกันอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งถือเป็นโครงการที่ใหญ่และมีความภูมิใจ เนื่องจากได้ร่วมดำเนินงานกับพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพร และได้เป็นคาร์บอนเครดิตจากการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของพืชที่ปลูก ให้เกิดความเจริญงอกงามยั่งยืนตลอดไป
อนึ่ง วว. โดย สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ดำเนินงานโครงการวัฏจักรต้นแบบการเจริญเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนของพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อพัฒนาพื้นที่เป้าหมายของจังหวัดน่าน ให้มีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุลระหว่างคนและธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่แบบมีส่วนร่วม ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และประชาชนในจังหวัดน่าน บนพื้นที่เป้าหมาย 2 อำเภอ คือ อำเภอท่าลี่ และสันติสุข โดย บริษัท ไลอ้อนฯ จะร่วมสร้างโครงการผ่านกิจกรรมส่งเสริมการใช้วัตถุดิบและแปรรูปสมุนไพรภายในพื้นที่จังหวัดน่าน จากชุมชนต้นน้ำเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ เน้นการปลูกพืช ที่มีผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้ได้ผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพื้นที่และป่าอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ลดการบุกรุกและทำลายสภาพป่าธรรมชาติ ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าครัวเรือน ป่าชุมชน อีกทั้งยังช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศร่วมด้วย ด้วยการปลูกพืชสมุนไพรไม้ยืนต้นที่เป็นสมุนไพรพื้นถิ่นของจังหวัดน่าน ส่งเสริมการสร้างรายได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ของจังหวัดน่าน นอกจากนี้เกษตรกรในพื้นที่ยังจะได้เรียนรู้วิธีการทำการเกษตร ด้วยหลัก วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างทักษะการผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่ดีร่วมด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.