กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ CTBTO PrepCom หน่วยงานระหว่างประเทศด้านการห้ามทดลองนิวเคลียร์ พัฒนาศักยภาพเสริมเทคนิคตรวจสอบการทดลองนิวเคลียร์ให้ผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาค SEAPFE กว่า 20 ประเทศ ในเดือนมกราคม 2566 นี้ ณ เชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามพันธกรณีของสนธิสัญญา CTBT พร้อมแสดงจุดยืนมุ่งมั่นขจัดอาวุธนิวเคลียร์และส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคงของประชาคมโลก
นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า ปส. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับคณะกรรมาธิการเตรียมการสำหรับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBTO PrepCom) จะจัดกิจกรรม CTBTO On-Site Inspection Regional Introductory Course-24 ระหว่างวันที่ 15 - 21 มกราคม 2566 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แปซิฟิก และเอเชียตะวันออก (SEAPFE) กว่า 70 คน จาก 20 ประเทศ กิจกรรมนี้เป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ศักยภาพ และสร้างความรู้ความเข้าใจในการตรวจ ณ ที่ตั้ง (On-site Inspection; OSI) ผ่านการจำลองสถานการณ์เสมือนจริงโดยผู้เชี่ยวชาญจาก CTBTO PrepCom ทั้งภาคทฤษฎีและภาคสนาม เช่น การทำนายโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ การวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหว เทคนิคการสื่อสาร การตรวจวัดกัมมันตภาพรังสี เป็นต้น โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับประสบการณ์ ข้อมูลทางวิชาการ และเทคนิคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการตรวจ ณ ที่ตั้ง ของประเทศสมาชิกในภูมิภาค SEAPFE เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มจำนวนของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิก และคัดสรรผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพเข้าเป็นผู้ตรวจสอบในบัญชีรายชื่อของ CTBTO PrepCom ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักตามพันธกรณีของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBT) ที่มีความสำคัญต่อการตรวจสอบการทดลองนิวเคลียร์ในระดับนานาชาติ นอกจากนี้การจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ยังถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเผยแพร่วัฒนธรรมของไทยให้แก่ผู้เข้าร่วมจากต่างประเทศอีกด้วย
นายเพิ่มสุข กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยลงนามสนธิสัญญา CTBT เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 โดยเป็นประเทศที่ลงนามเป็นอันดับที่ 133 และได้ให้สัตยาบันในวันที่ 25 กันยายน 2561 นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้ดำเนินงานตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมความเป็นสากลของสนธิสัญญา CTBT โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบพิสูจน์ยืนยันตามพันธกรณีของสนธิสัญญา ผ่านการจัดตั้งและดำเนินงานสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น 65 และสถานีตรวจวัดความสั่นสะเทือนของพิภพ พีเอส 41 ซึ่งเป็นสถานีเฝ้าตรวจในระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศ (International Monitoring System: IMS) และศูนย์ข้อมูลแห่งชาติเอ็น 171 รวมถึงการเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของ CTBTO PrepCom ในประเทศไทย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มบริหารจัดการองค์ความรู้ทางนิวเคลียร์และรังสี กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 1113, 1114
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.