วันที่ 6 มีนาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” ภาคเหนือ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6 – 8 มีนาคม 2566 โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการอบรมฯ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรนแปรอักษร” และการพัฒนาซอฟแวร์โดรนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน โดยมี นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ นายสมคิด ศรีปราชญ์ ศึกษาธิการจังหวัดตาก และ ดร.จักรภพ เนวะมาตย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคตาก ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน เข้าร่วมในพิธีฯ ณ วิทยาลัยเทคนิคตาก จังหวัดตาก
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีในโลกอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้งานในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้โดรนสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ และสามารถรองรับการใช้งานในภารกิจที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ วช. จึงได้ให้การสนับสนุนสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ในการจัดโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาองค์ความรู้ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน มาปรับใช้กับการทำงานในงานด้านต่าง ๆ โดยการอบรมจัดขึ้นเป็นครั้งที่สองของภาคเหนือ โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยการจัดอบรมฯ จะก่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ สร้างนวัตกรในประเทศ ให้มีความรู้ความชำนาญและมีประสบการณ์ในด้านการประดิษฐ์เพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดรนอย่างต่อเนื่อง รองรับการขยายตัวของเทคโนโลยี ด้านการบินในอนาคต อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. จัดโครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งาน” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเกี่ยวกับ “โดรนแปรอักษร” และการพัฒนาซอฟแวร์โดรนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน ให้กับนักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นการอบรมบ่มเพาะเชิงบูรณาการ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและลงมือทำในสิ่งต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมจริง โดยการอบรมจัดขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิคตาก จังหวัดตาก ถือเป็นครั้งที่สองของภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 6 – 8 มีนาคม 2566
ภายในงาน มีนักบินโดรนมืออาชีพ ได้แก่ นายณัฐกฤต ภูทวี รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคตาก นายพัชรกฤษฎิ์ เนื้อไม้อาจารย์ประจำแผนกวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก วิทยาลัยเทคนิคตาก และนายหม่อง ทองดี ผู้มีชื่อเสียงจากเครื่องบินกระดาษสู่เส้นทางคนทำหนัง มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การนำโดรนไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมการอบรมได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้รับการสนับสนุนจาก วช. จนประสบผลสำเร็จในการคิดค้นและพัฒนาซอฟต์แวร์การสั่งงานโดรนแปรอักษร กล่าวได้ว่าเป็น “โดรนแปรอักษร” ฝีมือคนไทย เป็นนวัตกรรมหนึ่งเดียวในอาเซียน และ 1 ใน 9 ของโลก ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ถือเป็นการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยให้ก้าวล้ำไปอีกขั้นทัดเทียมกับเทคโนโลยีของต่างประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษรเพื่อประยุกต์สู่การใช้งานที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ และแพลตฟอร์มระบบปัญญาประดิษฐ์ มีการพัฒนาและส่งเสริมให้ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และนวัตกร ที่จะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดและปรับใช้กับการทำงานในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติและลงมือทำในสิ่งต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมจริง ได้ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกทักษะ ฝึกปฏิบัติด้วยตนเองผ่านกิจกรรม “โดรนแปรอักษร” นักเรียน นักศึกษา หรือผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการอบรมได้ที่ Facebook Fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.