สภานโยบาย อววน. เห็นชอบหลักการข้อเสนอนโยบายการกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการสร้างความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในประเทศ อันเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของภาครัฐ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ โดยมุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีศักยภาพและเป็นจุดคานงัดสำคัญเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน
วันที่ 19 เมษายน 2566 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยหนึ่งในวาระที่สำคัญเพื่อพิจารณา เสนอโดย สกสว. วันนี้ คือ การเห็นชอบหลักการข้อเสนอนโยบายการกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการสร้างความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในประเทศอันเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของภาครัฐ (Offset) พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมบัญชีกลางและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกันจัดทำรายละเอียดข้อเสนอนโยบายฯ เพื่อเสนอครม.ให้ความเห็นชอบต่อไป รวมถึงมอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวง อว. ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายฯ
รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ระบุว่า จากกรณีศึกษาในหลายประเทศพบว่ามีการใช้ประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศโดยการมีเงื่อนไขให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และพัฒนาขีดความสามารถด้าน ววน. เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ รวมถึงพัฒนากำลังคนและผู้ประกอบการ ทั้งนี้รูปแบบปัจจุบันของประเทศไทยคู่สัญญามีหน้าที่ส่งมอบงานเท่านั้น ต่อไปการจัดซื้อจัดจ้างจึงต้องมีการผูกเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการและขีดความสามารถของภาคเอกชนไทย โดย สกสว.จะนำข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ไปปรับปรุงรายละเอียดการดำเนินงาน อาทิ สิ่งดึงดูดใจของนักลงทุนต่างชาติ การกำหนดเป้าหมายในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เทคโนโลยีที่มีศักยภาพในอนาคตและเป็นจุดคานงัดสำหรับอุตสาหกรรมนั้น ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ด้าน ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงได้เจรจาความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะต้องพัฒนากำลังคนให้ทัดเทียมกับความเจริญของโลกที่เปลี่ยนไป และใช้ข้อได้เปรียบของประเทศไทยที่เข้ากับทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดผลที่ดีที่สุดกับประเทศ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบเรื่องความร่วมมือกับธนาคารโลกในการวิเคราะห์และพัฒนาระบบ ววน.ของไทย เพื่อใช้เครื่องมือประเมินกลไกการสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่กระจายตามหลายหน่วยงานของรัฐและมีความหลากหลาย เพื่อให้การดำเนินนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ระบุว่าการทำงานร่วมกับธนาคารโลกจะช่วยยกระดับการทำงานของทีมจากประเทศไทยทั้ง สกสว. และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีให้ข้อสังเกตว่าควรพิจารณาสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้ผลของการศึกษาเกิดความน่าเชื่อถือ และยกมาตรฐานให้ใกล้กับสากล ซึ่งไทยควรจะต้องจัดระบบกันใหม่ในการจัดการคนและระบบต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศพัฒนาได้
ท้ายนี้สภานโยบายฯ รับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ 2565 ของ สกสว. โดยที่ผ่านมา สกสว.ได้ขับเคลื่อนระบบ ววน.อย่างครบวงจรโดยทำงานร่วมกับ 180 หน่วยงาน สิ่งสำคัญคือ ภาพอนาคตข้างหน้าที่กล่าวถึงเส้นทางสู่ผลกระทบ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมอบหมายให้ สกสว.ดำเนินการ 2 เรื่อง คือ ให้ ววน.ช่วยขับเคลื่อนแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ และมีพื้นที่ทำงานร่วมกันเพื่อเป็นต้นแบบ 1 พื้นที่ 1 ววน. รวมถึงการออกแบบการทำงานและทิศทางการลงทุนด้าน ววน.เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.