สกสว.ยินดีหนุนเสริมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์พื้นที่ หวังปักธงขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ รวบรวมผลงานในพื้นที่ที่สร้างผลลัพธ์และผลกระทบต่อชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น พร้อมเปิดเวทียกระดับนักวิจัยให้เข้มแข็งและทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย วางแผนมุ่งเกษตรมูลค่าสูงในปีหน้าตามนโยบายของจังหวัด
ผศ. ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พรัอมคณะเจ้าหน้าที่เดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่และติดตามหนุนเสริมการดำเนินงานของหน่วยงานในระบบ ววน. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เพื่อรับฟังการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรค ตลอดจนข้อท้าทายที่อยากให้ สกสว.ปรับปรุงการดำเนินงานอย่างเหมาะสมเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สกสว.มีเป้าหมายสนับสนุนงานมูลฐานเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนา ววน. ให้ตอบสนองแนวนโยบายของชาติ นำไปสู่การพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีธรรมาภิบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนยุทธศาสตร์การวิจัยของมหาวิทยาลัย
ด้าน ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม กล่าวว่า การทำงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีเป้าหมายสำคัญคือสร้างความเข้มแข็งด้าน ววน. ให้เข้มแข็ง ซึ่ง อว.มีองค์ความรู้และหน่วยงานพัฒนาประเทศจำนวนมาก จึงต้องบูรณาการกันทำงานให้ตรงเป้ามากที่สุดเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยในทุกมิติสู่ประโยชน์สูงสุด มีผลลัพธ์และผลกระทบต่อพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมพยายามปักธงให้งานวิจัยในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ ขับเคลื่อนชุมชนและลดความเหลื่อมล้ำตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้ง 13 หมุดหมาย มีการจัดสรรทุนและติดตามผลการดำเนินงานภายใต้ความคาดหวังที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการติดตามผลในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อฝ่ายปฏิบัติการในเชิงพื้นที่และนักวิจัย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองให้เกิดงานวิจัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“อยากให้มีเวทียกระดับความเข้มแข็งของนักวิจัย และเวทีเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมกันสนับสนุนให้การทำงานง่ายขึ้น ทั้งนี้จะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์องคาพยพงานวิจัยใหม่ทั้งหมด สิ่งสำคัญคือการส่งมอบงานที่เห็นผล จึงขอให้นักวิจัยปักหมุดผลงานในพื้นที่ที่รับผิดชอบทั้งจังหวัดนครปฐมและสุพรรณบุรี เพื่อให้เห็นภาพที่เป็นรูปธรรม สร้างความเชื่อมั่นให้ทุกคนทำงานได้จริงและยั่งยืน โดยให้งานเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมระดับประเทศโดยไม่ทิ้งพื้นที่ จังหวัดนครปฐมมีนโยบายเกษตรมูลค่าสูง ดังนั้นในปีหน้านักวิจัยต้องวางแผนว่าจะมุ่งเป้าไปที่คลัสเตอร์ใดและเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมใด เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาโดยบูรณาการร่วมกับภาครัฐและเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังวางแผนร่วมจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนภายใต้โครงการแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์ครบวงจรสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชนแบบยั่งยืน (RJ38) ในช่วงกลางปีนี้” อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมระบุ
ขณะที่ ผศ. ดร.พิทักษ์พงศ์ ป้อมปราณี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เผยว่า มหาวิทยาลัยจะต้องมองภาพอนาคต 5 ปี ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร และงานวิจัยจะไปตอบโจทย์ในพื้นที่ได้อย่างไร เพื่อทำเรือธงให้กับโครงการต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนงานวิจัย โดยตนจะเข้าร่วมประชุมการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย
ในโอกาสนี้คณะของ สกว.ได้รับฟังการนำเสนอโครงการวิจัยที่สำคัญ เช่น แพลตฟอร์มเชิงบูรณาการเพื่อสนับสนุนการสร้างกำลังคนเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อยกระดับสวนป่าสมุนไพร การใช้ปัญญาประดิษฐ์คัดแยกผู้ป่วยที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ปัญญาประดิษฐ์ฐานคิดของเด็กไทย สื่อการเรียนรู้เพื่อป้องกันการใช้ความรุนแรงของเด็กวัยรุ่น ระบบฟาร์มอัจฉริยะ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการจัดการการตลาดผักปลอดภัยจังหวัดนครปฐม ผ้าทอมือสีธรรมชาติเชิงสร้างสรรค์และออกแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับการท่องเที่ยวนวัตวิถีกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง เส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญาศิลป์จังหวัดนครปฐม กระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันใช้แล้วในครัวเรือน การผลิตข้าวหลามแบบอนุรักษ์พลังงานที่ลดมลพิษทางอากาศและขยะจากกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.