สอวช. เข้าร่วมบรรยายพิเศษในงาน International Academic Symposium “Foresight and Science, Technology and Innovation Policy” เรื่อง การพัฒนาแผนที่นำทางของการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage, CCUS) ในประเทศไทย
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight, APEC–CTF) ได้เข้าร่วมประชุมและรับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในงาน The International Academic Symposium “Foresight and Science, Technology and Innovation Policy”ภายใต้กรอบงาน The XXIV Yasin (April) International Academic Conference on Economic and Social Development ที่จัดโดย HSE University Institute for Statistical Studies and Economics of Knowledge (ISSEK) ภายใต้ Human Capital Multidisciplinary Research Centre และ HSE University’s UNESCO Chair on Future Studies เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566 ณ กรุงมอสโก ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย โดยงานครั้งนี้มีหัวข้อเกี่ยวกับการคาดการณ์อนาคตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดทำนโยบาย วิธีการ และเครื่องมือคาดการณ์อนาคตใหม่ๆ รวมไปถึงการบริหารจัดการด้านวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใช้งานจริงของเครื่องมือคาดการณ์อนาคตทั่วโลก
ดร. สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และผู้อำนวยการศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค ได้รับเชิญเป็นวิทยากรเข้าร่วมบรรยายใน Session 1: Foresight and S&T Priorities Setting ในหัวข้อ Development of Carbon Capture, Utilization and Storage Technology Roadmap in Thailand หรือการพัฒนาแผนที่นำทางของการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage, CCUS) ในประเทศไทย จากการประกาศเป้าหมายในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (UNFCCC COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ไทยตั้งเป้าเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยมีแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564–2573 (Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021–2030) ซึ่งเดิมตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ 20–25% ขึ้นเป็น 30–40% ซึ่งได้นำไปสู่การทำแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน (Decarbonization) โดยพิจารณาเทคโนโลยีหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี CCUS กลุ่มเทคโนโลยีการเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ (Fuel switching) กลุ่มเทคโนโลยีการใช้พลังงานสีเขียว (Electrification) และกลุ่มเทคโนโลยีไฮโดรเจน (Hydrogen)
โดยในกลุ่มเทคโนโลยี CCUS นั้น จะมีศักยภาพสูงที่จะใช้ในการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน จากแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม จึงนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเพื่อจัดทำแผนที่นำทาง CCUS ของประเทศไทย โดยได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ขึ้นในเดือนมิถุนายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการเสวนารับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ประเด็นสำคัญ ไม่ว่าจะในระดับวิชาการ อุตสาหกรรม และนโยบาย เพื่อร่วมกันพิจารณาหาปัจจัยสนับสนุนสำคัญ (Key enablers) ออกแบบกลไกการขับเคลื่อน (Driving mechanisms) เช่น กลไกด้านความร่วมมือ กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี และกลไกสนับสนุนด้านการเงิน
นอกจากนี้ ดร. สุรชัย ยังได้นำเสนองานของศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปคที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2566 สองโครงการ ได้แก่ (1) โครงการ APEC Strategic Foresight ซึ่งจะเป็นการวางแผนการทำงานร่วมกับประเทศในกลุ่มเอเปค โดยผ่านการใช้เครื่องมือคาดการณ์อนาคตในการหาความท้าทายต่างๆ ในอนาคต (future challenges) ความไม่แน่นอน (uncertainties) ประเด็นสำคัญ (key agendas) เทคโนโลยีสนับสนุน (key enabling technologies) เป็นต้น และ (2) โครงการ Driving Sustainable Growth by Circular Business Development through Design โดยทั้งสองโครงการกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาขอทุนสนับสนุนจากเอเปค
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.