สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมงานวันสำเร็จการฝึกอบรมหลักสูตรนักพัฒนาซอฟต์แวร์ รุ่นที่ 4 (Junior Software Developer Cohort 4 Graduation Day) และหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ รุ่นที่ 1 (Senior Care Professional Cohort 1 Graduation Day) ภายใต้การดำเนินการโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะตามโจทย์ความต้องการจ้างงานของประเทศ โดย GenNX Model เมื่อวันที่ 30 – 31 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เจเนเรชั่นประเทศไทย (Generation Thailand) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) และองค์กรพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้ร่วมกล่าวแสดงความยินดีกับผู้สำเร็จการอบรมในโครงการ
อีกทั้งยังได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ สอวช. ในการทำนโยบายให้กับรัฐบาล และโครงการนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่ สอวช. ผลักดัน ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะสำคัญให้กับผู้ที่สนใจนำไปต่อยอดในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันนโยบายใหญ่ ๆ ของประเทศที่กำลังเสนอต่อรัฐบาลมีประเด็นหลัก ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดการสร้างผู้ประกอบการ ที่มีเทคโนโลยี มีความรู้ เป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation driven Enterprise : IDE) ตั้งเป้าให้เกิดผู้ประกอบการ 1,000 ราย ที่มีค่าเฉลี่ยผลประกอบการ 1,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ซึ่งการประกอบการจะเกิดขึ้นมาจากโมเดลวิธีคิดใหม่ ๆ ร่วมกับการมีเครือข่าย และมีกองทุนเข้าไปสนับสนุน ส่วนต่อมาคือ นโยบายที่จะนำไปสู่การผลิตที่มีความยั่งยืน การผลิตสีเขียว การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงในอนาคตบริษัทส่งออกต่าง ๆ จะต้องให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอีกหนึ่งนโยบายที่ สอวช. ขับเคลื่อนอยู่ คือการยกสถานะคนที่อยู่ในกลุ่มฐานราก ทั้งสถานะทางด้านการเงิน การศึกษา ดึงคนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งเรามีกองทุนที่จะสนับสนุนในเรื่องนี้
ดร.กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึงทักษะที่จำเป็นในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น 1) Hard skill ความรู้ความสามารถเฉพาะทาง แบบลงลึก ควบคู่ไปกับการมีความรู้ในมุมกว้าง 2) Future skill หรือทักษะอนาคต ต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากทักษะบางอย่างในอนาคตอาจมีเครื่องมือหรือมีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาทำงานทดแทนได้ เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนทักษะเตรียมพร้อมสู่ในอนาคต อีกทักษะที่สำคัญคือ 3) Soft skill เป็นทักษะที่ทำให้การทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือการสื่อสารในการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ส่งผลให้ผู้อื่นอยากทำงานร่วมกับเรามากยิ่งขึ้น และสิ่งสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือทัศนคติ การมีทัศนคติที่ดีจะเป็นจุดขายที่สำคัญของการทำงานในอนาคต หากมีทัศนคติในเชิงบวก มองทุกอย่างในเชิงสร้างสรรค์ก็จะมีความก้าวหน้าในการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สอวช. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของประเทศไทย โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ รวมถึง นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการในยุคดิจิทัลเป็นอย่างมาก โครงการนี้ได้นำโมเดลการพัฒนาทักษะที่มีการดำเนินการจนประสบความสำเร็จในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทย เปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้ด้วยกระบวนการที่ผ่านการยอมรับในระดับสากล และช่วยพัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดงานแบบเร่งด่วนให้กับคนไทย
ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะตามโจทย์ความต้องการจ้างงานของประเทศ โดย GenNX Model เป็นรูปแบบการพัฒนาทักษะการทำงานผ่านการฝึกอบรมระยะสั้นแบบเข้มข้น (Bootcamp) โดยปรับรูปแบบการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของประเทศไทย ล่าสุดมีการจัดการอบรมหลักสูตรนักพัฒนาซอฟต์แวร์แล้ว จำนวน 4 รุ่น ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 และหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ จำนวน 1 รุ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะมีการจัดอบรมต่อเนื่องในทั้ง 2 หลักสูตร ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลโครงการได้ที่ https://thailand.generation.org/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.