เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาและเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม “กระบวนการยุติธรรม 5G เพื่อพัฒนานวัตกรรมการป้องกันอาชญากรรมในสถานการณ์วิกฤติในประเทศไทย : สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นกรณีศึกษา” ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาฯ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุณีย์ กัลป์ยะจิตร ผู้จัดการแผนงาน กล่าวรายงาน ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจากพลตำรวจตรี ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “แนวโน้มอาชญากรรมในช่วงสถานการณ์วิกฤติในประเทศไทยและการป้องกันในอนาคต”
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมในหลายมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสุขภาพ รวมถึงด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีการดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่ายในการพัฒนานวัตกรรมการป้องกันอาชญากรรมช่วงสถานการณ์วิกฤติในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นการดำเนินงานที่สามารถตอบโจทย์และเป็นการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่สำคัญโดยสะท้อนให้เห็นถึงการศึกษาและสร้างนวัตกรรมที่นำมาใช้เป็นแนวทางในการป้องกันโดยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ทันสมัย รวมทั้งการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับกระบวนการยุติธรรมในหลากหลายมิติ และจากการทำงานต่อเนื่องของแผนงานวิจัยตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จนถึงปัจจุบันเราสามารถถอดบทเรียนจากการทำงานร่วมกันเพื่อนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์ของโรคอุบัติใหม่ หรือสถานการณ์วิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
พลตำรวจตรี ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่าปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งเกิดจากอาชญกรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่ออาชญกรรมไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีการปรับปรุงรูปแบบให้ทันต่อเหตุการณ์และมีความรวดเร็วต่อสถานการณ์ ซึ่งในปัจจุบันอาชญากรรมออนไลน์ไม่ได้มีเพียงแก็งคอลเซ็นเตอร์ ยังมีการโกงในรูปแบบการซื้อขายออนไลน์ การหลอกให้ไปสมัครงาน รวมถึงการหลอกให้จับตัวเองเรียกค่าไถ่ ทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก ดังนั้นตำรวจจะต้องหาแนวทางการแก้ปัญหาโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วย โดยในปัจจุบันได้มี Platform Facebook สืบนครบาล เข้ามากระจายข้อมูลอาชญากรรมออนไลน์ พร้อมทั้งสามารถแจ้งความร้องทุกข์ในรูปแบบออนไลน์ และมีการตอบกลับจากเจ้าหน้าที่ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับผลสำเร็จของงานวิจัยกระบวนการยุติธรรม 5G ฯ ที่ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปใช้เป็นต้นแบบและขยายผลในการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
รองศาสตราจารย์ ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้การเกิดอาชญากรรมที่มีรูปแบบเปลี่ยนไปจากช่วงสถานการณ์ปกติ การรับมือกับอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆทั้งในมิติการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐและ การป้องกันตนเองของประชาชน จึงต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเราผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ไปได้แล้ว บทเรียนที่ได้รับจะต้องเป็นเกราะป้องกันหรือวัดซีนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อเกิดวิกฤตการณ์อื่นๆในอนาคต ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลสำเร็จจากการบริหารแผนงานวิจัยดังกล่าวนี้ จะเป็นต้นแบบนวัตกรรมที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกสถานการณ์ทางสังคม ไม่ว่าในอนาคตเราจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่รุนแรงเพียงใดก็ตาม
การจัดสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของแผนงาน “กระบวนการยุติธรรม 5G เพื่อพัฒนานวัตกรรมการป้องกันอาชญากรรมในสถานการณ์วิกฤติในประเทศไทย : สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นกรณีศึกษา” ในครั้งนี้ มีการนำเสนอ และสรุปผลการวิจัย กระบวนการยุติธรรม 5G เพื่อพัฒนานวัตกรรมการป้องกันอาชญากรรมในสถานการณ์วิกฤติในประเทศไทย: สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นกรณีศึกษา และการเสวนาหัวข้อ “นวัตกรรม 5G สู่การป้องกันอาชญากรรมในสถานการณ์วิกฤติ โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์กว่า 150 คน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.