วันที่ 18 กันยายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม นำคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ประกอบด้วย รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นายธานินทร์ ผะเอม และ นายสมบูรณ์ วงศ์กาด พร้อมด้วยสื่อมวลชน ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมผลสำเร็จของการดำเนินงานของโครงการวิจัย เรื่อง โครงการ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (เปลือกโกโก้) ของเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ในพื้นที่จังหวัดตาก ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research : CBR) สร้างกลไกการใช้คนในท้องถิ่นในการพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นร่วมกับภาคีเครือข่ายวิจัย และยกระดับผลิตภัณฑ์ ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัย โดย นางสวาท ไพศาลศิริทรัพย์ หัวหน้าโครงการวิจัย จาก วิทยาลัยชุมชนตาก คณะทีมนักวิจัย พร้อมด้วย นางสาวพรรณทิพย์ ชัยชนะ กรรมการสภาวิทยาลัยตาก ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์การเรียนรู้ทางภาษาด้วยตนเอง จังหวัดตาก
นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่พบได้ทั่วไปอย่างโกโก้ในพื้นที่จังหวัดตาก นั้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก ตลอดจนการใช้ฐานจากการทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่คำนึงถึงระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพต่อยอดไปสู่สินค้าเกษตรชีวภาพ ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยโครงการวิจัยเข้ามามีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. กล่าวว่า ควรที่จะศึกษาในเรื่องของวัตถุดิบอาหารและสารอาหารเสริมในอาหารสัตว์เพื่อประกอบเป็นสูตรอาหารสำหรับสัตว์ให้มีคุณภาพดีขึ้นหรือมีคุณค่าทางโภชนะที่เหมาะสม และเพียงพอต่อความต้องการของสัตว์ ในเชิงวิชาการที่ต้องเพิ่มเติมให้กับชุมชนได้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้
นางสวาท ไพศาลศิริทรัพย์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า จากการดำเนินการงานของ โครงการ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (เปลือกโกโก้) ของเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ในพื้นที่จังหวัดตาก นั้น ทีมนักวิจัยได้ศึกษาบริบทพื้นที่ เกษตรกรในพื้นที่ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก พบว่าชาวบ้านในพื้นที่กลุ่มเกษตรกรปลูกโกโก้เป็นจำนวนมาก เมื่อผลผลิตมากขึ้น จึงนำมาสู่จุดสำคัญที่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนออร์แกนิค ได้ร่วมกับทางคณาจารย์จากวิทยาลัยชุมชนตาก ในการพัฒนานวัตกรรม และแนวทางการแปรรูป การพัฒนาช่องทางการตลาด เพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยผสมผสานกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community Based Research) มุ่งพัฒนาทางเลือกหรือวิธีการใหม่ ๆ ในการยกระดับเศรษฐกิจในชุมชน ด้านการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกลับมาใช้ประโยชน์ โดยมุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมทั้งบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการปลูกโกโก้สายพันธุ์ M1 มีพื้นที่การปลูกกระจายอยู่หลายแห่ง ปลูกมากที่อำเภอพบพระ และนิยมปลูกเป็นพืชแซมกับพืชเศรษฐกิจอื่น ปัจจุบันในพื้นที่ยังไม่มีการนำเปลือกโกโก้มาใช้ประโยชน์ และขยะถูกทิ้งเป็นขยะมีปริมาณสูงขึ้น จึงได้คิดค้นวิธีการที่จะรับมือกับปัญหาเปลือกโกโก้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจะทำอย่างไรให้มูลค่าเพิ่มขึ้นมา โดยนำเปลือกโกโก้มาแปรรูปได้ 3 รูปแบบ ดังนี้ 1.อาหารสัตว์ 2.ดินปลูก และ 3.ถ่านไบโอชาร์ (Biochar) จากผลการพัฒนาถ่ายทอดรูปแบบการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเปลือกโกโก้ ไปสู่การใช้ชีวิตแบบ Zero Waste คือการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมาชิกวิสาหกิจชุมชนออร์แกนิกร่วมทำการวิจัยและทดลอง นำเปลือกโกโก้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงโค เมื่อเทียบอาหารสัตว์สำเร็จรูปในท้องตลาดและเมื่อเทียบอัตราการเจริญเติบโตกับโคพื้นเมืองเพศผู้ อายุ 2 – 3 ปี น้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม จำนวน 5 ตัว แสดงให้เห็นว่าคุณภาพอาหารที่ใช้ต่อโคทั้ง 2 กลุ่ม มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดรายจ่ายในครอบครัวเรือน ไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจ หมุนเวียนที่เน้นการแปลงของเหลือใช้ทางการเกษตรหรือของเสียให้เป็นแหล่งรายได้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
นายปรเมธ แสงรุ่งโรจน์ทวี ผู้ผลิตดินปลูก ตราดินดี 5 ดาว กล่าวว่า เปลือกโกโก้มีธาตุอาหารของพืชที่เหมาะสมเหมาะสำหรับการทำปุ๋ยเพื่อการเกษตร นับเป็นการนำเปลือกโกโก้ที่เหลือทิ้งในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้แก่ชุมชน ถือได้ว่าโครงการวิจัยนั้นเป็นจุดเริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ แต่จะเป็นการทดลองที่ช่วยขยายผลไปสู่การพัฒนาและสร้างรายได้ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้อย่างสูงสุด
ทั้งนี้ คณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มออร์แกนิค บ้านห้วยนกแล หมู่ที่ 9 ตำบลช่องแคบ อำเภอ พบพระ จังหวัดตาก เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจออร์แกนิค บ้านห้วยนกแล และได้เยี่ยมชมกิจกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากโกโก้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของที่นี่ ได้แก่ ผงโกโก้ โกโก้แมส โกโก้บัสเตอร์ และลิปบาล์มโกโก้ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก โดยคณะได้เดินทางต่อไปยังสวนโกโก้ ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด เพื่อศึกษาดูกระบวนการผลิตและการเก็บผลผลิตโกโก้และได้เดินทางต่อมายังสถานที่โรงผลิตปุ๋ยเพื่อศึกษาถึงกระบวนการแปรรูปปุ๋ยจากเปลือกโกโก้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.