
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมหารือประเด็นความร่วมมือด้านการศึกษา ระหว่าง ไทย-จีน กับ Prof. Tan Tieniu (ถาน เถี่ย หนิว) ประธานสภามหาวิทยาลัยหนานจิง และเลขาธิการ พรรคประจำมหาวิทยาลัยหนานจิง (Chair of Nanjing University CPC Council) และคณะผู้แทนจาก Nanjing University (NJU) โดยมี ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ อธิการบดี รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี ผศ.ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต นางสาวพสุภา ชินวรโสภาค อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง เข้าร่วมการหารือ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
นายศุภชัย กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบายและการส่งเสริมความร่วมมือด้าน อววน. กับ จีน ในปัจจุบันกระทรวง อว. กำกับดูแลทั้งสถาบัน หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย 16 แห่ง และมหาวิทยาลัยของรัฐรวม 154 แห่ง โดยมีนโยบายมุ่งผลิตและพัฒนากำลังคน สร้างองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมในด้านการอุดมศึกษา มุ่งเน้นให้มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ให้ก้าวทันต่อบริบทโลก รวมทั้งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน หรือสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่ นอกจากนี้ยังมุ่งให้สถาบันอุดมศึกษามีบทบาทใน การ upskill/re-skill ของคนวัยทำงานเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
“ การขับเคลื่อนงานตามพันธกิจของกระทรวง อว. ต้องอาศัยกลไกความร่วมมือกับต่างประเทศที่จะช่วยเสริมการดำเนินงานตามภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งความร่วมมือด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับจีนนั้น นับเป็นความร่วมมือในอันดับต้นๆ ที่ กระทรวง อว. ให้ความสำคัญสูง โดยมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน และ Chinese Academy of Science (CAS หรือ แคส) นอกจากนี้ ในด้านการศึกษาและวัฒนธรรม กระทรวง อว. ยังมีความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการของจีน และซีแอลอีซี (Center for Language Education and Cooperation – CLEC) สำหรับในระดับมหาวิทยาลัยและสถาบัน ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยรวมถึงมหาวิทยาลัยสวนดุสิตก็มีการทำความร่วมมือกับฝ่ายจีนที่เข้มแข็ง โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิตเป็นหนึ่งใน 16 มหาวิทยาลัยที่มีการจัดตั้งสถาบันขงจื่อ” ผู้ช่วย รมว. กล่าว
Prof. Tan Tieniu (ถาน เถี่ย หนิว) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหนานจิงเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เข้มแข็ง มีคุณภาพทั้งในด้านการเรียนการสอนและการวิจัย จัดอยู่ใน Top10 ของประเทศจีนและอยู่ในอันดับโลก อีกทั้งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยหนานจิงกำลังพิจารณาให้การสนับสนุนในการขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาทุนมนุษย์ การทำวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์และนักวิจัย รวมถึงการทำวิจัยร่วมหรือการพัฒนาหลักสูตรร่วมระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศในอนาคต
“ความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน จีนและไทยนั้นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันดั่งสุภาษิตที่ว่า “จีนไทยใช่อื่นใด พี่น้องกัน” และถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยสวนดุสิตจะมีความเชี่ยวชาญที่ต่างจาก Nanjing University แต่ก็มิใช่อุปสรรคต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน Nanjing University มีความพร้อมทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยี มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อาทิ การบูรณาการด้านสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตรธรรมชาติ วิทยาการ AI (NJU จัดอยู่ใน Top 3 ของมหาวิทยาลัยในจีนที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI) และมีนักศึกษาต่างชาติศึกษาอยู่ที่ NJU มากกว่า 1,300 คน และในจำนวนนี้มีนักศึกษาไทยมากเป็นอันดับ 4 ของจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาสู่ความเป็นนานาชาติของ NJU ด้วยเหตุนี้ NJU จึงพร้อมจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์โดยเฉพาะ AI พลังงานทดแทน การจัดการสิ่งแวดล้อม และนิติศาสตร์“ Prof. Tan Tieniu (ถาน เถี่ย หนิว) กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ หลังจากการหารือความร่วมมือ คณะผู้แทนของ Nanjing University ได้มีโอกาสเยี่ยมชมบูธนิทรรศการในงาน “อาณาจักรแห่งรส: จุดประกายอนาคตการท่องเที่ยวและการบริการระดับโลก” ซึ่ง อว. ร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิตจัดงานดังกล่าวภายใต้การขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ข่าว : นางสาวปาลิตา ตระกูลพานิชย์กิจ
ถ่ายภาพ : นายฐิติพงษ์ แสงรักษ์
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail :
pr@mhesi.go.thFacebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313