วันที่ (15 พฤษภาคม 2562) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดประชุมหารือการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อพัฒนากำลังคนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบนโยบายการผลิตกำลังคนตามความต้องการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร่วมบรรยายถึงแนวทางการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อพัฒนากำลังคนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวง อว. กล่าวต้อนรับ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ชั้น 3 อาคารกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)
ดร.สมคิดฯ กล่าวว่า ตนมาในฐานะ รมว.อว. สิ่งที่อยากทำคือการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อพัฒนากำลังคนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพราะเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ตนเคยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ทำให้รู้ปัญหาอุดมศึกษา ปัญหางานวิจัยและปัญหาต่างๆ แต่จากนี้ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้งานเดินหน้า และขับเคลื่อนไปอย่างลุล่วง อย่างไรก็ตาม ด้วยตนมีระยะเวลาการทำงานน้อย ดังนั้น งานอะไรที่สามารถทำกันได้ก็ให้ ปลัด อว.มาดูแล ส่วนงานไหนไม่สามารถตกลงกันได้ เป็นงานเร่งด่วนหรือมีข้อติดขัดเสนอปลัด อว.มาหารือกับตน จะได้ช่วยกันผลักดันแก้ไขปัญหา
ดร.สมคิดฯ กล่าวต่อว่า เด็กรุ่นใหม่ ไม่เหมือนรุ่นเก่า เพราะเรียนรู้ได้จากเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยก็เช่นกัน ต้องปรับตัว เพราะอนาคตไม่ต้องการปริญญา แต่ต้องการคนที่ทำงานได้ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) จะต้องเน้นเรื่องอุตสาหกรรมการเกษตร บริการและการท่องเที่ยวให้มีความหลายหลาย ไม่ต้องไปสอนบริหารแข่งกับคนอื่น ทำในสิ่งที่ควรทำ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนแปลง
นพ.อุดมฯ กล่าวว่า โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่เริ่มตั้งแต่ปี 2561 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขอให้ทำโครงการนี้ให้สำเร็จ ที่อยากเสนอไม่ใช่แค่การสร้างบัณฑิตแต่รวมถึงอาชีวศึกษาเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ถ้ามาดูภาพใหญ่แนวโน้มของโลกปรับตัวสู่การสร้างนวัตกรรม สร้างองค์ความรู้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับการแข่งขัน ทั้งนี้จากข้อมูลของธนาคารโลกปี 2030 แรงงานจะถูกแทนด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ประเทศไทยถูกแทนถึง 72% แต่คิดว่าคงมาเร็วกว่าปี 2030 ขณะนี้ ตลาดแรงงานมีความต้องการที่เปลี่ยนไป ตอนนี้เราผลิตคนไม่ตอบโจทย์การศึกษาชาติ ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน อาชีวมีทักษะที่ไม่ตรงตามความต้องการ คุณภาพไม่ดี อุดมศึกษาไม่ตอบโจทย์ประเทศ และไม่ตอบโจทย์โลก ประเทศไทยติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โครงการนี้จะเป็นหัวหอกในการยกระดับประเทศ ให้หลุดจากประเทศปานกลาง ซึ่งหากจะหลุดได้คนต้องมีรายได้ต่อเดือน 3.2 หมื่นบาทแต่ตอนนี้รายได้อยู่ที่ 1 หมื่นกว่าบาทเท่านั้น ที่ไม่สำเร็จเพราะอุดมศึกษาไม่ผลิตกำลังคนให้ตอบโจทย์ประเทศ รัฐบาลชัดเจนว่าสถาบันการศึกษาจะต้องเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยให้อุดมศึกษาเป็นหัวขบวนสำคัญ ผลิตงานวิจัย สร้างองค์ความรู้ ต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี
ด้าน นายคณิศฯ กล่าวว่า บัณฑิตพันธุ์ใหม่ คือ กำลังคนที่พื้นที่ EEC ต้องการ จากการสำรวจข้อมูลช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในพื้นที่ EEC มีผู้ว่างงานและทำงานต่ำระดับสะสม จำนวน 2.2 แสนคน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณ 2.2 หมื่นคน ขณะที่ความจริงจำนวนแรงงานในพื้นที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น EEC ได้มีการกำหนดเป้าหมายความต้องการแรงงาน ระยะ 5 ปี ใน 7 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านการพัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ จำนวน 4.75 แสนคน หลักสูตรใหม่ 200 หลักสูตร โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาโดยมหาวิทยาลัยในพื้นที่ EEC จำนวน 8 แห่ง และสถานศึกษาอาชีวศึกษา 48 แห่ง รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานนอกพื้นที่อีก 30%
นายคณิศฯ กล่าวต่อว่า กุญแจสำคัญของโครงการ EEC มีอยู่แค่เพียง 2 สิ่ง นั่นคือ 1.การหาเทคโนโลยี และ 2.การหาคนมาเรียนรู้เทคโนโลยี เพราะการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป ประเทศไทยต้องการคนที่รู้จักเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้ง และสิ่งที่ประเทศไทยต้องการในเวลานี้คือการลงทุนที่เป็น High Technology เพื่อให้คนไทยได้เรียนและซึมซับความรู้เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาในอนาคต
เขียนข่าว : นางสาวปวีณ์นุช ถือแก้ว
ถ่ายภาพนิ่ง : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ถ่ายภาพวีดิโอ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : sciencethailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.