วันที่ 6 กันยายน 2563 ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) และคณะผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าผลการดำเนินงานวิจัยและนวัตกรรมจังหวัดพะเยา โดยเยี่ยมชมนิทรรศการ “บทบาทของมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่กับการสร้างเศรษฐกิจฐานราก” ณ มหาวิทยาลัยพะเยา และรับฟังสรุปงาน “การพัฒนาเศรษฐกิจผ่านทุนทางวัฒนธรรม กรณีศึกษา กาดไทลื้อ” ณ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเชิงพื้นที่ในมิติต่าง ๆ ผ่านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สร้างสรรค์ เพื่อเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรม พัฒนาและส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม และวิสาหกิจเชิงวัฒนธรรม โดยให้ภาคประชาสังคมวัฒนธรรมชุมชนไทลื้อ อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยมีหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยเข้ามาหนุนเสริมตามพันธกิจของแต่ละหน่วยงาน
“จากการลงพื้นที่จังหวัดพะเยาในครั้งนี้ ได้เห็นถึงความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน และเห็นด้วยกับคณะวิจัยที่ได้เชื่อมโยงวัฒนธรรมททั้ง 5 หมู่บ้าน เพื่อผลักดันให้พื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชนได้เกิดเป็นรูปธรรม และเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งเป็นพื้นที่เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้ยั่งยืนและมั่นคง ตลอดจนทำให้เกิดการบูรณาการดำเนินงานระหว่างส่วนปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างสรรค์และบริหารจัดการให้เกิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่มีนัยของความยั่งยืน เกิดการส่งมอบคุณค่ากับคนรุ่นใหม่กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ผ่านกลไกของพื้นที่ และเกิดการสร้างงานและรายได้ในชุมชน จากการสร้างและขับเคลื่อนพื้นที่ทางวัฒนธรรม” รมว.อว. กล่าว
ด้าน ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากโครงการวิจัยการจัดการทุนทางวัฒนธรรมด้วยความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม อยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงานของแผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกันสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ตั้งแต่ปี 2562 กรอบงานหนึ่งของแผนงานคือการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เติบโตขึ้นจากฐานทุนทรัพยากรภายในของพื้นที่ ทุนหนึ่งที่สำคัญแต่มักถูกมองข้ามไปคือทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน ได้แก่ ภาษา เครื่องแต่งกาย ภูมิปัญญา วิถีการดำเนินชีวิต ประเพณี พิธีกรรม ศิลปะ จารีต ไปจนถึงอาหารการกิน สิ่งเหล่านี้เป็นอัตลักษณ์ที่แต่ละชุมชนมีไม่เหมือนกัน และหากมีการจัดการที่ดีก็จะทำให้ทุนทางวัฒนธรรมนี้มีความโดดเด่น และสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
โครงการวิจัยการจัดการทุนทางวัฒนธรรมด้วยความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม ดำเนินการโดยทีมวิจัยที่ดีที่สุดทีมหนึ่งของประเทศ นำโดย รศ.สุพรรณี ฉายะบุตร และนายธนภณ วัฒนกูล พร้อมด้วยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินการทดลองใน 18 พื้นที่ทั่วประเทศ สำหรับในภาคเหนือ ได้เลือกพื้นที่จังหวัดพะเยา ซึ่งมีทุนทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อที่โดดเด่นมาก โดยมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพะเยาร่วมเป็นทีมวิจัยพื้นที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาคมวัฒนธรรมของชุมชนไทลื้อที่เชียงคำ กระบวนการวิจัยเริ่มจากการสืบค้นสมบัติทางวัฒนธรรมและทำแผนที่ทางวัฒนธรรม การจัดกระบวนการสร้างความเข้าใจและเป้าหมายการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ สร้างกลไกและกติกาในการจัดการเพื่อนำคุณค่าทางวัฒนธรรมของพื้นที่มาสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ตกกลับสู่คนในพื้นที่มากขึ้น หลักการสำคัญคือการเน้นให้ภาคประชาสังคมเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรม ด้วยการหนุนเสริมของท้องถิ่น นำของดีของมีค่าทางรากเหง้า ชาติพันธุ์ ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตมานำเสนอใหม่ผ่านการสร้างตลาดวัฒนธรรม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเป็นเศรษฐกิจที่หมุนเวียนในชุมชน เพราะสินค้าทางวัฒนธรรมก็ผลิตในชุมชนและตลาดก็จัดการโดยคนในชุมชน คุณค่าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการพื้นคุณค่าของวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของชุมชน ทำให้คนเกิดความตระหนักหวงแหนสมบัติทางวัฒนธรรมของตนเอง อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจในการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้ต่อยอดและรักษาไว้ซึ่งเรื่องราวอันดีงามของท้องถิ่น
สำหรับตลาดวัฒนธรรมไทลื้อ เป็นตลาดเชิงวัฒนธรรม 1 ใน 18 พื้นที่ทางวัฒนธรรมชุมชน ที่โครงการฯ ดำเนินการในลักษณะของการไปกระตุ้นให้เกิดประชาคมวัฒนธรรมให้เข้มแข็ง ด้วยการศึกษาสำรวจและลงพื้นที่ชุมชนเกี่ยวกับการอนุรักษ์และส่งเสริมทุนทางศิลปวัฒนธรรมชุมชน รวมทั้งประวัติศาสตร์ของพื้นที่ นำไปสู่แผนที่ทางวัฒนธรรมชุมชนที่ชี้ให้เห็นถึงฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่า ซึ่งการทำงานวิจัยดังกล่าวเป็นการสร้างคุณค่าจากทุนทางวัฒนธรรมชุมชนเป็น “ทุนเชิงเศรษฐกิจ” โดยมีประชาคมวัฒนธรรมในพื้นที่เป็นกลไกขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่นำไปสู่การจัดพื้นที่ “ตลาด” ในรูปแบบ“ตลาดวัฒนธรรม” ตามอัตลักษณ์ท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งเป็นการบริหารงานโดยภาคประชาสังคมไทลื้อ อ.เชียงคำ จ.พะเยา โดยมีภาคีเครือข่ายในพื้นที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการทำงาน ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 5 หมู่บ้าน ในพื้นที่ตำบลหย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา ได้แก่ บ้านธาตุสบแวน หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2, บ้านหย่วน หมู่ที่ 3, บ้านมางหมู่ที่ 4 และบ้านดอนไชยหมู่ที่ 5, ร่วมกับภาคีอื่น ๆ เช่น อบต.เชียงคำ, อบต.หย่วน, มหาวิทยาลัยพะเยา โดยเปิดโอกาสให้คนในชุมชนสามารถขายสินค้าที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชนของตัวเอง เช่น อาหารไทลื้อ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หรือการแสดงเกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชนไทลื้อ เปิดตลาดตั้งแต่เวลา 16.00 – 19.00 น. ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ โดยหมุนเวียนไปทั้ง 5 หมู่บ้าน
การจัดพื้นที่ตลาดทางชุมชนจะใช้จุดสำคัญของหมู่บ้าน เช่น ลานวัฒนธรรมชุมชน ลานวัดในชุมชน หรือ ศูนย์สินค้าโอทอป เพื่อหนุนเสริมให้สถานที่ดังกล่าวเกิดความคึกคักขึ้น โดยพ่อค้าแม่ค้าในตลาดแต่งกายชุดไทลื้อและนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนหรืองานหัตถกรรมชุมชนมาขาย พร้อมทั้งมีดนตรีพื้นบ้าน ศิลปการแสดง การสาธิตการทอผ้า ทำกับข้าว ทำขนมดั้งเดิมของชาวไทลื้อ ให้ผู้มาเยือนและนักท่องเที่ยวได้ชมด้วย
อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจและเก็บข้อมูลการทำงานที่ผ่านมา พบว่า ตลาดวัฒนธรรมสามารถสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือนได้ครัวเรือนละ 1,000 – 2,000 บาทต่อวัน โดยเฉพาะกลุ่มหัตถกรรมที่มีรายได้เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มดังกล่าวต้องรอตลาดภายนอก งานประจำปี หรือนักท่องเที่ยวขาจรเท่านั้น เมื่อเห็นตัวเลขรายได้การเพิ่มขึ้นของแต่ละครัวเรือนทำให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดวัฒนธรรมชุมชน โดยต้องการยกระดับผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์คล้ายกันให้เป็นวิสาหกิจชุมชน และส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เข้ามาเป็นผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมในอนาคต
ข้อมูลโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ข่าวและภาพ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 – 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.