“อาจารย์จักษ์” ชี้วัยรุ่นไทยพร้อมเป็นนักรบส่งออก ผนึกกำลังทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ
และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ผลุด 2 โครงการเพื่อสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่
1 มิถุนายน 2564 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รองศาสตรจารย์ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร. สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้บริหาร สป.อว. ผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ และผู้ประกอบการ ร่วมประชุมหารือแนวทางในการจัดโครงการเพื่อพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นผู้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ
นายกฤชฐา โภคาสถิตย์ ประธานคณะอนุกรรมการ e-commerce กระทรวงเกษตรฯ พร้อมด้วย นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผอ.กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม สป.อว. และผู้บริหารจากภาคธุรกิจ ได้ร่วมกันเสนอแนวคิดในการทำโครงการ 2 โครงการ ได้แก่ “โครงการวัยรุ่นไทย นักรบใหม่การส่งออก New Generation Trader : NGT” เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการส่งออก โดยนอกจากจะเป็นการสร้างเยาวชนให้เป็น New Trading ด้านการค้าส่งสินค้าทางการเกษตร และยังเป็นการช่วยชุมชนและเกษตรกรไทย ในการขยายการส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลก ผ่านแพลตฟอร์มค้าส่งออนไลน์ ส่วนโครงการที่สอง คือ โครงการ Local Star Hero โครงการที่จะสร้างนักศึกษาให้เป็น "ผู้ประกอบการตัวจริง" ที่จะได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากผู้ประกอบการร้อยล้าน โค้ชออนไลน์ที่มีประสบการณ์สูง เพื่อให้เป็น "Local Star Hero" ที่สามารถสร้างสินค้าจากวัตถุดิบในชุมชนให้กลายเป็นสินค้ามีแบรนด์และสามารถเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนได้จริงๆ
นางสาวกนกวรรณ สุขชัยศรี Managing Director บริษัท BLi (Thailand) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับ Authorized Channel Partner ของ alibaba.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มธุรกิจค้าส่งออนไลน์ ในรูปแบบ B2B อันดับหนึ่งของโลกได้ให้ข้อมูลว่า Alibaba.com เป็นการทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มแบบ B2B E-Commerce ที่จะสามารถส่งออกไปยัง 190 ประเทศทั่วโลกได้ ถือเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขายส่งสินค้าได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโควิดเช่นนี้ ซึ่งจากสถิติในปี 2020 มีผู้ซื้อเพิ่มขึ้นถึง 50% และในปี 2021 ไตรมาสที่ 1 มีผู้ซื้อเพิ่มขึ้นกว่า 80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ขายสินค้าใน Alibaba จะต้องได้รับการรับรองอย่างถูกต้องเท่านั้น ซึ่งมีขั้นตอนและกระบวนการอย่างเป็นระบบ โดยในเบื้องต้นทั้ง 2 โครงการ กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้เป็นนักศึกษา ชั้นปีที่ 3-4 หรือนักศึกษาที่มีแรงบันดาลใจอยากเป็นผู้ส่งออกและทำธุรกิจออนไลน์ โดยสามารถสมัครได้เป็นทีม ทีมละ 3 คน โดยในทีมประกอบไปด้วยผู้ที่มีความสามารถทางด้านภาษา ด้านไอที และด้านธุรกิจ ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการเข้าคอร์สฝึกอบรมอย่างเข้มข้นจากวิทยากรที่เป็นผู้ประกอบการด้านการส่งออกที่ประสบความสำเร็จจริง โดยอบรมทั้งภาคทฤษฎี ศึกษาดูงานการทำงานจริง และลงมือปฏิบัติกับผู้ประกอบการจริง โดย นางสาวฝัน เจียวหลิง พาน ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาแลกเปลี่ยนไทย-จีน ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด ผู้ส่งออกทุเรียนไทยไปจีน กล่าวว่า เข้าใจนักศึกษาที่มีความฝันในการทำธุรกิจเป็นอย่างดี เพราะตนเองเคยผ่านมาก่อน ทำอย่างไรให้ไม่มีเงินแต่ขายของได้ ต้องเริ่มต้นจากการจำหน่ายทุเรียนผ่านระบบ Pre-Order จนกระทั่งปัจจุบันมีธุรกิจส่งออกทุเรียนไปจีนโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำ ซึ่งผ่านประสบการณ์มามากกว่าจะประสบความสำเร็จ นายธีระวัฒน์ วิไลรัตน์ ประธานบริหาร บริษัท ไร่สายชล 101 กล่าวว่า น้องๆ ที่ผ่านเข้าโครงการนี้จะเข้าใจ Mindset ของการทำธุรกิจ ต้องรู้ว่าการทำธุรกิจจริงๆ ต้องทำอะไร สินค้าเกษตรไทยต้องต่อยอดอะไร ยังไง และวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ สุดท้ายเป้าหมายของการโครงการนี้ คือ ผู้เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 50 ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ประกอบการส่งออก โดยมียอดการส่งออกเป็นตัวชี้วัด
ศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ดี ยิ่งไปกล่าวนั้นอยากเห็นความยั่งยืน พัฒนาต่อยอดในการทำหลักสูตร โดยใส่เรื่องเหล่านี้เข้าไปในวิชา GE ทำให้เป็นหลักสูตรแบบ Mass ซึ่งจากนี้การจ้างงานจะไม่ขึ้นกับใบปริญญา แต่จะเป็นการจ้างงานตามความสามารถ
รองศาสตราจารย์ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรี อว. กล่าวว่า ที่ผ่านมานักศึกษาสนใจทำธุรกิจ ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้คนที่มีประสบการณ์มาชี้แนะ และโครงการจะเป็นความร่วมมือของหลายกระทรวง รวมถึงภาคธุรกิจด้วย ต้องการให้นักศึกษาที่สนใจเห็น Career Path ที่ชัดเจนในการทำธุรกิจ ต้องการได้นักศึกษาที่มีความตั้งใจอยากเป็นผู้ส่งออก และที่สำคัญต้องมีความอึด อดทน ขยัน และสู้งานจริงๆ เข้าร่วมโครงการ ส่วนความคืบหน้าของโครงการจะมีการแถลงข่าวในเวลาอันใกล้.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.