(2 สิงหาคม 2564) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “วิถีชีวิตของศิลปะการแสดงจะปรับตัวและเปลี่ยนไปอย่างไร ในสถานการณ์โรคระบาด” ในเวทีถอดบทเรียนโครงการขยายผลต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้าน เพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกของชาติ ผ่านโปรแกรม ZOOM Cloud Meetings ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มากล่าวเปิดเวทีถอดบทเรียนโครงการขยายผลต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้าน เพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกของชาติในเช้าวันนี้ ดนตรีและการแสดงเป็นวิชาของจิตใจ ไม่ได้เป็นเพียงแต่ความสนุกสนานเท่านั้น เพราะสามารถส่งกำลังใจ สร้างความสามัคคีของปวงชนให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขก็ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เคยรับสั่งไว้ว่า “ดนตรีช่วยกำจัดความเจ็บปวดระหว่างวัน” ท่านขงจื้อได้กล่าวไว้ว่า “มนุษย์งอกงามได้ด้วยบทกวี มั่นคงได้ด้วยศีลธรรม” ขงจื้อสอนให้คนจีนเป็นสุภาพบุรุษ ต้องมีความรู้ มีจรรยาบรรณแต่ขณะเดียวกันต้องมีดนตรีด้วย ขงจื้อเองก็เล่นดนตรีโบราณที่เรียกว่า “กู่ฉิน” สำหรับคนจีนแล้ว ดนตรีชนิดนี้พิเศษมากเพราะเชื่อมต่อกับจิตใจได้ “ผมมีโอกาสได้รับความรู้เรื่องนวัตกรรมเพลงพื้นบ้านจากท่านอาจารย์สุกรี ในที่ประชุมครั้งหนึ่งที่กระทรวง อว. ว่า ได้กำลังทำเพลงพื้นบ้านใส่สำเนียงให้เป็นเพลงคลาสสิค ผมก็สนใจและเห็นความสำคัญของเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงได้ขอให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พิจารณาสนับสนุนทุน”
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้วางแผนเอาไว้ว่าจะตามไปฟังผลงานของอาจารย์สุกรี เจริญสุข ที่ได้รับทุนจากทาง วช. ที่จะไปจัดแสดงตามที่ต่าง ๆ จะไปทุกครั้ง รู้สึกตลอดเวลาว่าดนตรีมีคุณค่าต่อจิตใจ ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี อว. อยากจะชักนำให้คนใน อว. สนใจไม่เฉพาะทางศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ศาสตร์อื่น ๆ ที่เป็นศาสตร์อ่อนโยน เช่นดนตรี ศิลปะ ก็อยากจะชักชวนให้ไปดูไปชมกัน หวังว่าจะขยายตัวเป็นวงกว้างต่อไปเรื่อย ๆ อยากให้ทำเรื่องนี้ต่อไปจนจบ ซึ่งอาจจะทำเป็นแบบออนไลน์แต่ไม่ทราบว่าจะทำได้หรือไม่ จะไพเราะสมบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่ แต่ในยามนี้ไม่น่าจะพิจารณาถึงเรื่องครบถ้วน ต้องถือว่าดนตรีนอกจากจะชโลมจิตใจ ในยามที่บ้านเมืองขับขันเวลานี้ เราน่าจะใช้ดนตรีมาชโลมจิตใจได้ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่การรักษาความเจ็บปวดระหว่างวัน แต่สามารถช่วยบำบัดในช่วงสถานการณ์โควิดด้วย ทำให้เห็นว่ามีคนจำนวนหนึ่งต่อสู้ให้พวกเราอยู่ที่แนวหน้า เขาควรจะได้รับการรักษาความเจ็บปวดระหว่างวัน จำเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะต้องคิดใช้ดนตรีที่มีคุณค่ามากส่งไปถึงท่านทั้งหลายที่กำลังต่อสู้กับภัยโควิด ถ้าทำได้สำเร็จเราจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือ เป็นดนตรีที่ใช้แสดงได้ทุกเวลา ทั้งในเวลาปกติและในเวลาวิกฤต
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.