.
(2 สิงหาคม 2564) ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการซีรี่ย์ไทยกับโลกและประเทศเพื่อนบ้าน : อาเซียนในยุคที่จีนกับสหรัฐขัดแย้งแข่งขันกันอย่างหนัก: มุมมองจากไทย พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และรศ.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมงาน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการเสวนา ทั้งจากช่องทางการประชุมทางไกล (Video Conference) ผ่านระบบ Zoom และทาง Facebook Lives ว่า การจัดงานในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยามดำเนินงานของ อว. ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19
สถาบันโลกคดีศึกษา คือ 1 ใน 5 สถาบันของ สบว. (ธัชชา) ซึ่ง ธัชชา ในพจนานุกรม แปลว่า ผู้ถือธง ผู้นำ ผู้ทำสิ่งที่ดี จึงใช้คำว่า “ธัชชา” แทนชื่อเต็มของสถาบัน การจัดตั้ง ธัชชา นั้น เพื่อที่จะทำให้เกิดความตื่นตัว เกิดงานวิจัย เกิดการคิดค้นและเกิดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ อว. เป็นกระทรวงที่มีความแข็งแกร่ง 6 ขาใหญ่ คือ (1) ด้านวิทยาศาสตร์ (2) เทคโนโลยีและนวัตกรรม (3) สร้างสรรค์ (4) ศิลปกรรม (5) สังคมศาสตร์ และ (6) ศิลปศาสตร์ โดยหวังว่าจะทำให้ชาวไทยและชาวโลกได้ตระหนักว่าประเทศไทยนั้น มีวิทยาการทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มีวิวัฒนาการและมีเอกลักษณ์ ซึ่งไทยเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญแห่งหนึ่งของโลกตั้งแต่ในยุคทวารวดี หรือยุคสุวรรณภูมิ เป็นต้น
สถาบันโลกคดีศึกษา ในฐานะที่เป็นองค์กรทางวิชาการด้านการต่างประเทศ โลกคดีจะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในโลก มากกว่าการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น งานวิชาการของ ธัชชา จะทำให้ชาวไทยและชาวโลก ได้เห็นแนวคิดและวัฒนธรรมที่หล่อหลอมออกมาจากสังคมไทยในวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งโลกมีส่วนต่อการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการต่างประเทศด้วย ทฤษฎีการต่างประเทศที่สำคัญก็ยังเป็นเรื่องที่ว่าด้วย National Power และ Balance of power แต่ทฤษฎีเรื่อง National characteristic คุณสมบัติประจำชาติ ลักษณะประจำชาติจะต้องเอามาผสมกันกับทฤษฎีที่เป็นสากล ที่ว่าด้วยผลประโยชน์แห่งชาติ ว่าด้วยการรักษาสมดุลเชิงอำนาจเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ
รมว.อว. กล่าวต่อว่า สิ่งที่สถาบันโลกคดีจะดำเนินการในวันนี้และวันต่อ ๆ ไป จะยิ่งทำให้การศึกษาระหว่างประเทศไทยมีความผสมผสานกันกับลักษณะประจำชาติไทย ซึ่งในโอกาสหน้านั้นจะคุยกันในหัวข้อ Middle Power (มหาอำนาจระดับกลาง) ประเทศไทยอาจจะต้องหาช่องทางในการเป็น Middle Power ในรูปแบบที่เหมาะสม โลกมองประเทศไทยอย่างไร ประเทศไทยมีจุดแข็งอย่างไร ในการเสวนาวิชาการวันนี้ จะมีผู้นำเสนอ คือ ท่านทูตสุรพงษ์ ชัยนาม ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ และมีผลงานการเขียนหนังสือต่างๆ และมีผู้ให้การอภิปราย คือ นายกวี จงกิจถาวร โดยผู้ที่ติดตามผ่านช่องทาง Zoom และ Facebook Lives สามารถร่วมให้ความคิดเห็นและสอบถามเข้ามาได้ตลอดเวลา
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.