นายกรัฐมนตรีปลื้ม ชื่นชมบทบาทของ อว. หลังรัฐมนตรีเอนก นำเยี่ยมชมการดำเนินงานโควิด-19 ของ อว.
ทั้งด้านรักษาพยาบาล, ดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้าน และวิจัยวัคซีนทั้งแบบ mRNA และชนิดใบยา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พร้อมพูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วย Home Isolation ผ่านระบบ Tele Health
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านโควิด-19 ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในเรื่องการรักษาพยาบาลและระบบการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ใน Home Isolation ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้การต้อนรับ
หลังจากนายกรัฐมนตรี รับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานด้านโควิด-19 โดยคณบดีคณะแพทยศาสตร์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ณ หน่วยบริหารจัดการระบบ Home Isolation ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่อาคาร สธ.แล้ว รัฐมนตรี อว. และอธิการบดีจุฬาฯ ได้นำนายกรัฐมนตรีและคณะเยี่ยมชมระบบการดูแลและติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ใน Home Isolation โดยนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยให้กำลังใจกับผู้ป่วยโควิดที่พักรักษาตัวที่บ้าน โดยโรงพยาบาลดูแลติดตามผ่านระบบอัตโนมัติ Tele Health พร้อมทั้งได้รับทราบการพัฒนาวัคซีน ChulaCov 19 ชนิด mRNA โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นชมอาคารหอผู้ป่วยส่วนขยายวิกฤต ซึ่งขยายเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้ป่วยหนัก อาคารแพทยพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เข้าเยี่ยมการพัฒนาวัคซีนชนิด Recombinant protein จากต้นใบยาที่บริเวณอาคารจุฬาพัฒน์ 14 โดยเข้าชมภายในบริเวณโรงงานผลิตวัคซีน การเพาะเลี้ยงพืชและการผลิตวัคซีน โดยนายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย โดยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และการวิจัยและพัฒนาวัคซีนจากพืชวัคซีนใบยา ของบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ นักวิจัยและพัฒนาวัคซีน จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้หารือและมอบนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินงานกับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิการบดี และคณะนักวิจัย
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวถึงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ว่าขณะนี้ประเทศไทยมีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในระยะการทดสอบในมนุษย์รวม 4 ชนิด โดยเฉพาะร่วมกับมหาวิทยาลัยไทย แต่ละชนิดจะมีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง คือชนิดแรกวัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จะเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 เดือนสิงหาคม 2564 นี้ ตั้งเป้าไว้จะเริ่มได้ใช้ฉีดวัคซีนในกลางปีหน้า ชนิดที่ 2 คือวัคซีนพัฒนาจากเซลล์ใบยาสูบ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 ในเดือนกันยายนและธันวาคม 2564 ชนิดที่ 3 วัคซีน DNV-HXP-S วัคซีนชนิดเชื้อตาย โดยองค์การเภสัชกรรมและมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มทดสอบในมนุษย์แล้ว คาดว่าจะสำเร็จช่วงกลางปี 2565 และวัคซีนโควิเจน วัคซีนชนิดดีเอ็นเอ โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด จะเริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะแรกเดือนตุลาคม 2564 นับว่าเป็นความหวังของไทย ในการสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 และป้องกันการระบาดระลอกต่อไปด้วย.
เขียนข่าว : ปิยาณี วิริยานนท์
ถ่ายภาพ : วัชรพล วงษ์ไทย
วีดีโอ : กรภัทร์ จิตต์จำนงค์
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง สป.อว.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 Call Center โทร.1313
Facebook : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.