(31 สิงหาคม 2564) อว. พารอด รับมอบหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส และ หุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เพื่อให้ อว. ได้นำไปใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัสมีคุณสมบัติในการสร้างไอพ่นละอองฝอยละเอียดเฉลี่ย 50 ไมครอน สามารถพยุงตัวในอากาศได้นาน ละอองฝอยน้ำยาเคลื่อนที่ไปไกล 5-7 เมตร ฉีดพ่นได้ต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ 37,680 ตารางเมตรต่อ 50 นาที ส่วนหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC สามารถฆ่าเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ รวมทั้งโควิด-19 ด้วยรังสียูวีซี ควบคุมด้วยระบบสัญญาณคลื่นวิทยุ ใช้การบังคับด้วยรีโมทคอนโทรลที่ออกแบบระบบวงจรขึ้นเองโดยคณะผู้วิจัย ซึ่งนำระบบมาพัฒนาใหม่เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวกขึ้น รวมทั้งการบำรุงรักษาไม่ยุ่งยากและซับซ้อน ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานรับมอบ โดยมี ดร.รักนรินทร์ แสนราช รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง เป็นประธาน และ ผศ.ดร.สถาพร วังฉาย อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมขนถ่ายวัสดุและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ทีมงาน และนักศึกษา ร่วมส่งมอบ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ และโฆษกกระทรวงฯ, ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯม คุณสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ และ รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมในพิธี ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรุงเทพฯ
ผศ.ดร. สถาพร อธิบายว่า หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส เป็นหุ่นยนต์ใช้วงจรควบคุมความปลอดภัยในการจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าของหุ่นยนต์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) ตัวส่งจะมีลักษณะเป็น Joy Controller ที่รับคำสั่งจากผู้ใช้งาน ประกอบไปด้วยสวิตช์ควบคุม ตัวส่งสัญญาณวิทยุและจอแสดงผลกล้องจากหุ่นยนต์ ตัวส่งจะรับค่าปุ่มกดจากผู้ใช้และส่งค่าไปหาตัวหุ่นยนต์ผ่านคลื่นวิทยุ เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ และ 2) ตัวรับจะประกอบไปด้วยตัวรับวิทยุทำหน้าที่รับข้อมูลจากตัวส่งวิทยุ ส่งไปยังไมโครคอนโทรลเลอร์ จากนั้นไมโครคอนโทรลเลอร์จะทำการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับ จากนั้นจะส่งสัญญาณไปยังบอร์ดควบคุมมอเตอร์ ซึ่งมอเตอร์จะแบ่งออก 3 ส่วนคือ (1) มอเตอร์ขับเคลื่อนล้อ (2) มอเตอร์หมุนหัวพ่น ใช้สำหรับหมุนชุดพ่น และ (3) มอเตอร์ไอพ่นจะติดตั้งอยู่ในกระบอกพ่น สามารถปรับความเร็ว ปรับความแรงของลมให้มากน้อยตามความเหมาะสมของสถานที่ .
อย่างไรก็ตามหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส ได้ถูกทดสอบและนำไปทำงานภาคสนามโดยฉีดพ่นเพื่อป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้กับพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยแล้ว โดยได้ฉีดพ่นในห้องประชุม สถานที่ประชุม สนามกีฬาในร่ม สถานที่ทำงาน สำนักงาน สนามกีฬา และโรงอาหาร นับเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยม ตอบโจทย์กับความต้องการใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ผลงานจากรั้ว มจพ. ที่สร้างสรรค์เพื่อคนไทย ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ขอเชิญชวนร่วมบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ที่ “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด มจพ.” เพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดให้นักวิจัย สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ไปสู่สังคมเพื่อช่วยเหลือสังคมได้อย่างยั่งยืน
สำหรับหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC เป็นการฆ่าเชื้ออาศัยเทคนิค UVGI ฉายฆ่าเชื้อโรคที่ฟุ้ง/ลอยมากับอากาศ (Airborne) และฉายฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวของวัสดุต่างๆ (Droplets) ระยะของการฉายใกล้ ยิ่งมีความรับรังสีสูง (High Germicidal Effective UV Irradiance) ใช้เวลาน้อย ก็จะสามารถให้ปริมาณรังสีสูง (Radiant Exposure/UV Fluence or UV Dose) ที่
เพียงพอกับการทำลาย COVID-19 ได้ (ดังนั้น หากต้องการฆ่า COVID-19 ที่ความเชื่อมั่น 99.9999% ต้อง 6-Log reduction สามารถประเมินด้วย Linear Log Reduction ได้ใช้ค่า UV dose = 6*540 J/m^2 =3,240 J/m^2)
กลไกการใช้รังสียูวีฆ่าเชื้อโรค มีกลไกที่ DNA ของจุลินทรีย์หรือไวรัส จะดูดกลืนรังสี นำไปกระตุ้นให้เกิดพันธะโควาเลนซ์ระหว่างหมู่เบสไทมีน (Thymine,T) หรือยูราซิล (Uracil,U) ของนิวคลีโอไทดืที่อยู่ใกล้กันเกิดเป็น Pyrimidine Dimer ทำให้สายโซ่ของ DNA หรือ RNA เกิดการบิดเบี้ยวไปจากเดิม แรงพันธะไฮโดรเจนระหว่าง T (หรือ U) กับ A อ่อนลง และเกิดการขาดของพันธะในที่สุด Pyrimidine Dimer จำนวนมาก จะเกิดการยับยั้งการขยายพันธุ์ของเชื้อจุลินทรีย์ หรือทำให้ไวรัสไม่สามารถจำลองตนเองได้ ดังนั้น รังสียูในช่วง UVGI นี้สามารถทำลาย RNA VIRUS เช่น COVID-19 ที่ความยาวคลื่นของรังสียูวีที่มีประสิทธิภาพในการทำลาย RNA VIRUS ได้ดีที่สุดประมาณ 260 nm ส่วนหลอดรังสียูวีที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ได้แก่ หลอดไอปรอทแรงดันต่ำ เปล่งรังสี 254 nm/หลอดอะมัลกัม เปล่งรังสี 254 nm/ หลอด UV LED ที่แปล่งรังสีในช่วง 242-313 nm หรือ 260-265 nm
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.