เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อม ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เข้าร่วมหารือกับคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และหัวหน้าหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านอาหารแห่งอนาคต สกสว. พร้อมนักวิจัยด้านอาหารเข้าประชุมผ่านระบบ ZOOM โดยจัดขึ้น ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว.
ในโอกาสนี้ ดร.อัครวิทย์ ได้กล่าวถึง สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบันของประเทศไทย โดยคนทั่วไปเริ่มให้ความสนใจอาหารที่ดูแลสุขภาพ และประเทศไทยโชคดีที่มีอาหารที่หลากหลาย มีนักวิจัยที่เก่ง ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกอาหารเป็นอันดับที่ 11 ของโลกซึ่งถือว่าอยู่ในจุดที่ดีมากในการส่งออกอาหาร หลากหลายประเทศใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต เพราะเรามีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีส่วนแบ่งการส่งออกไป อเมริการ 15% ยุโรป 16% เอเชีย 60% อีกประมาณ 9% จะอยู่ที่แอฟริกาและโอเชียเนีย ในอนาคตตลาดแอฟริกาจะเป็นตลาดที่น่าสนใจ ช่วงสถานการณ์ COVID-19 เราพบผลกระทบด้านอายุการเก็บของอาหาร เช่น ผัก ผลไม้สด ซึ่งการแก้ปัญหาต่อไปก็คือ การแปรรูปอาหารเพื่อให้ส่งออกได้มากขึ้น แนวโน้มของสินค้าในอนาคตจะเป็นอาหารเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าได้เยอะมากโดยทำงานร่วมกับโรงเรียนทางการแพทย์เพื่อทำการวิจัย กระทรวง อว. ก็มีส่วนในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอาหารนี้ โดยสถาบันการศึกษา และหน่วยงานของกระทรวงวิทย์ฯ เดิมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจะคอยช่วยเหลือผู้ประกอบการ และเชื่อมโยงหน่วยงานต่างชาติ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ได้ให้แนวทางการดำเนินงานดังนี้ เรื่องอาหารเป็นผลประโยชน์ระยะปานกลางของประเทศ และในอนาคตจะเป็นผลประโยชน์ระยะยาวที่น่าทำมาก เพราะโลกของเราในอนาคตจะเป็นโลกของอาหาร ซึ่งจะเปิดโอกาสให้กับประเทศไทยอีกมาก เพราะเรามีศักยภาพและความเข้มแข็งในด้านนี้ นอกจากนี้เรื่องอุตสาหกรรมอาหารยังเกี่ยวข้องกับ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ปัจจุบันไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) เป็นอันดับที่ 6 ของโลก เราสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้ ลงทุนไม่มากแต่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีมากโดยจะทำให้อาหารของเรามีทั้งวิทยาศาสตร์และมีทั้งมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้ามากขึ้นและเร็ว ส่งผลถึงเกษตรกรทันที นอกจากนี้เราจะทำอย่างไรให้สามารถนำคนที่เก่งในแต่ละด้านของประเทศนำมาสร้างเป็นสถาบันอาหาร (Food Institute) ที่อยู่ในระดับโลกได้ โดยใช้วิธีที่ง่ายที่สุด เน้นที่ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ มาช่วยยกระดับสถาบันการศึกษาให้กับประเทศไทย
เผยแพร่ข่าว : นายธัชนนท์ บุญหล้า
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.