(19 ตุลาคม 2564) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีวางพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” เนื่องใน “วันเทคโนโลยีของไทย” ประจำปี 2564 โดยมี ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานในพิธีวางพุ่มดอกไม้และถวายราชสักการะ พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, คณะผู้บริหาร อว. ผู้แทนหน่วยงานในสังกัด ผู้แทนมหาวิทยาลัย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ร่วมวางพุ่มดอกไม้และถวายราชสักการะฯ ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระสยามเทวมหามงกุฎวิทยามหาราช รัชกาลที่ 4 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 จุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของไทย จากการศึกษาและค้นพบวิธีการทำฝนเทียมสูตรใหม่ของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงควบคุมบัญชาการและอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่เป็นครั้งแรกของโลก ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นฐานปฏิบัติการ และก็ประสบความสำเร็จฝนตกตามเป้าหมายอย่างแม่นยำ และผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเทิดพระเกียรติในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ได้มีมติให้ความเห็นชอบพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันเทคโนโลยีของไทย"
การที่ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ก่อกำเนิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ โครงการแกล้งดิน เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว โครงการหญ้าแฝก เทคโนโลยีป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน โครงการแหลมผักเบี้ย เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย โครงการคลองลัดโพธิ์ เทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม
และตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงงาน ภาพที่เห็นจนชินตาจากทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการพัฒนาเทคโนโลยีของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจช่วยเหลือราษฎรผู้ทุกข์ยาก เมื่อพบปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร พระองค์จะทรงนำกลับมาขบคิดหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการปัญหานั้น ๆ พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีประโยชน์และบรรเทาความเดือดร้อนแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้แก่ปวงชนชาวไทย
ด้วยพระราชกรณียกิจ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย ทรงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำความรู้ทางสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกสาขาวิชามาใช้ในการพัฒนาทุกแขนง ทรงมุ่งให้เกิดการพัฒนาคนให้อยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเองเป็นสำคัญทุก ๆ โครงการที่มีพระราชดำริและพระราชทานให้แก่ประชาชน ล้วนมีวิธีดำเนินการได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซ้ำซ้อน มีความสอดคล้องกับระบบนิเวศโดยรวมของธรรมชาติ และสภาพสังคมของชุมชนนั้น ๆ ไม่ทรงปิดกั้นเทคโนโลยีใหม่จากต่างประเทศ แต่ทรงเน้นว่าจะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุงใช้ได้ดีพอ เหมาะกับสภาพและฐานะของประเทศ โดยเน้นที่ประสิทธิภาพ ประหยัดและการทุ่มแรงงาน พระองค์ทรงเป็นดุจประทีปชี้นำทางสว่างสู่ปวงประชา
นอกจากนี้ยังมีโครงการตามพระราชดำริในเรื่องพลังงานทดแทนอื่น ๆ อีก เช่น การผลิตดีโซฮอล์ล ซึ่งเป็นการผลิตเชื้อเพลิง จากการผสมเอทานอล กับน้ำมันดีเซล ผลการทดลองพบว่าสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ และลดควันดำถึง 5% หรือพระราชดำริให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาทดลองผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลโคนม ซึ่งได้ก๊าซมีเทนที่เป็นก๊าซติดไฟกว่า 50% และก๊าซอื่น ๆ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ เทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน ยังมีวิทยาการและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ทรงใช้ในการพัฒนาอีกจำนวนมาก เช่น ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ตลอดจนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความมุ่งมั่นในการที่จะสืบสานพระราชปณิธานฯ โดยการน้อมนำและสานต่อ องค์ความรู้แห่งพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย ให้แผ่ขยายไปในวงกว้างและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.