(22 มกราคม 2565) ศ. (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษา รมว.อว. ร่วมแสดงความยินดีและเยี่ยมชมนิทรรศการ “แสงแรกแห่งศักราชใหม่ สู่ ทศวรรษที่ 7 โดย ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง” ณ ชั้น 8 ICONSIAM Art & Culture Space
เป็นเวลากว่า 6 ทศวรรษ ที่ศิลปินแห่งชาติและศิลปินชั้นเยี่ยมคนที่ 14 ของประเทศไทย ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะทั้งด้านงานจิตรกรรมและประติมากรรม และในปี 2565 ที่จะถึงนี้เป็นปีที่ก้าวสู่ทศวรรษที่ 7 นับเป็นปีสำคัญที่ศิลปินแห่งชาติต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้จากศาสตร์ทุกด้านให้ยังคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ จึงเกิดเป็นนิทรรศการ “แสงแรกแห่งศักราชใหม่ สู่ทศวรรษที่ 7 ของศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง”
ภายในนิทรรศการได้จัดแบ่งออกเป็น 4 ด้านได้แก่ องค์ความรู้ด้านการเรียนการสอน การวิจัยสร้างสรรค์ การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (อนุรักษ์ สืบสาน พัฒนา สนับสนุน ส่งเสริม เผยแพร่) ตามพันธกิจของ ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง อันเป็นผลงานศิลปะและผลงานประติมากรรมที่รวบรวมจากพิพิธภัณฑ์ทั้ง 3 แห่งได้แก่ ศูนย์ศิลป์แสงเงา ศูนย์ศิลป์แสงธรรมสุวรรณภูมิ และศูนย์ศิลป์แสงธรรมใจพอเพียร จ.เชียงราย มารวมไว้ ณ ชั้น 8 โซน ICON ART & CULTURE SPACE ไอคอนสยาม ตั้งแต่วันนี้ - 20 ก.พ. 2565
โดยภายในงานจะได้พบกับผลงานประติมากรรมหลากหลายที่ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทองได้จัดทำขึ้น อาทิ แบบจำลองวัดใหญ่ชัยมงคล จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของทฤษฎีแสงและเงา จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านอาจารย์สร้างสรรค์ผลงานโมเดลวัดชิ้นนี้ขึ้นมา ถัดมาด้านในจะได้พบกับ สถูปแห่งความรู้ ซึ่งภายในสถูปแห่งนี้ เป็นการแสดงผลงานในช่วงที่ผ่านมา ทั้งผลงานประติมากรรมและผลงานจิตรกรรม กว่า 100 ชิ้น ซึ่งได้ถูกนำมาจัดแสดงในรูปแบบของการฉายสไลด์ผ่านจอโปรเจคเตอร์
นอกจากนี้ผู้ชมงานสามารถชมผลงานประติมากรรมที่นำมาจัดแสดงในรูปแบบโมเดลจำลอง อาทิอาคารพระพุทธลพบุรี ศรีสุวรรณภูมิ โดยภายในอาคารแห่งนี้จะประดิษฐานพระพุทธรูป พระพุทธลพบุรี ศรีสุวรรณภูมิ และโมเดลอาคารประกอบ ที่จะประดิษฐานพระพุทธรูป 89 ปาง ที่อ.ปรีชาได้เป็นผู้ออกแบบไว้ โดยภายในนิทรรศการแห่งนี้ผู้ชมงานจะได้ชมภาพสเก็ตพระพุทธรูปทั้ง 89 ปาง ที่เป็นริ้วธงประดับอยู่ในภายในงานนิทรรศการแห่งนี้
รวมถึงโมเดลสำคัญที่อาจารย์ได้ออกแบบไว้ เช่น จุดหมายปลายทางของแสงสุวรรณภูมิ แสงแห่งปัญญาที่มีไทยเป็นศูนย์กลาง โมเดลเสา 4 ต้นที่อาจารย์ได้นำมาจากการเก็บข้อมูลประเทศในอาเซียน มาถอดความหมายเป็นลวดลายบนเสาทั้ง 4 ต้น รวมถึงโมเดล ผลงานสระนิเวสวังเวสสะ จังหวัดสุพรรณบุรี ผลงานประตูประติมากรรมประตูสู่ปัญญา จังหวัดระยอง และผลงานประติมากรรมจำลองที่มีชื่อว่า ช่วงเวลาสุนทรียะ 9.59 น.-16.59 น. ณ กรุงรัตนโกสินทร์ ยุค 2563/2020
ภายในนิทรรศการจะได้ชมนิทรรศการภาพถ่ายที่เป็นผลงานของศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง เป็นกำแพงที่รวมผลงานภาพถ่ายโดยฝีมือการถ่ายภาพของศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ตั้งแต่ภาพร่าง จนถึงภาพถ่ายผลงานที่ได้จัดสร้างเสร็จแล้วในสถานที่ต่างๆ รวมถึงเรื่องราวช่วงระยะเวลาที่อาจารย์ได้ทำงานมาตลอด 6 ทศวรรษ แปะเรียงรายบนกำแพงให้ได้ชมกว่าหนึ่งร้อยภาพ และผลงานประติมากรรม ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงร.9 ขณะทรงผนวช รวมถึงหนังสือสะสมอีกมากมาย
รวมทั้งผลงานนิราศศรีอโยธยาซึ่งท่านอาจารย์ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมร่วมด้วย นอกจากนี้ผู้ชมงานยังสามารถ เรียนรู้เรื่องราวชีวิตการทำงาน ผลงาน ความรู้ แนวคิดและผลงานศิลปะอีกมากมายของศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ที่ถูกถ่ายทอดผ่านคิวอาร์โค้ดนับพันชิ้น ซึ่งแต่ละคิวอาร์โค้ด จะพบเรื่องราวที่แตกต่างกัน ในรูปแบบคลิปวีดีโอ ที่ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ได้บันทึกไว้ด้วยตนเอง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และศึกษาอย่างง่ายดาย
พิเศษสำหรับผู้เข้าชมงานนิทรรศการในวันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม 2564 เวลา 15.00-17.00 น. จะได้รับภาพพิมพ์ชุด ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมศิลป์ ยุค New Normal (จำนวนจำกัด)
ชมนิทรรศการ “แสงแรกแห่งศักราชใหม่ สู่ทศวรรษที่ 7” การรวมองค์ความรู้และผลงานศิลปกรรมสำคัญๆของศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง และร่วมกิจกรรมเวิร์คช้อปเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทุกวัน
และร่วมกิจกรรมเวิร์คช้อปเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ โดยนิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ - 20 ก.พ.65 ณ ชั้น 8 โซน ICONART & CULTURE SPACE ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร ติดตามรายละเอียดได้ที่ www.iconsiam.com
เขียนข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
ถ่ายภาพ : นางสาวอินทิรา บัวลอย
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.