ครม. อนุมัติสร้างอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช “เอนก” รมว.อว. ชี้เป็น “สถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย” ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้รวดเร็ว ลดระยะเวลาการเดินทาง ลดความแออัดภายในโรงพยาบาล คาดสามารถให้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 955,000 รายต่อปี และผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น 7,000 รายต่อปี
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เปิดเผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. ได้อนุมัติโครงการจัดสร้างอาคารรักษาพยาบาลศิริราชและสถานีศิริราช ตามที่ อว. โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลเสนอ เพื่อบูรณาการการใช้งานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช กับการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างสะดวกด้วยการเดินทางที่เชื่อมโยงเครือข่ายระบบคมนาคมหลัก และพัฒนาใช้ศักยภาพของพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟธนบุรีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อวงการแพทย์และสาธารณสุข
เป็น“สถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย” โดย ครม. ได้อนุมัติกรอบงบประมาณรวม 3,851,274,700 บาท จาก 2 แหล่ง ได้แก่ เงินงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 2,552,502,100 บาท และเงินสมทบจากเงินรายได้ จำนวน 1,298,772,600 บาท คิดเป็นสัดส่วนงบประมาณแผ่นดินต่อเงินสมทบจากเงินรายได้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในอัตราส่วน 66 : 34 โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2569
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า โครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช เป็นอาคารร่วมใช้ประโยชน์ในการเดินทางและการรักษาพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาการเดินทาง และลดความแออัดของผู้ป่วยของโรงพยาบาล โดยเป็น One Stop Service ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ และการดูแลรักษาแบบบูรณาการ โดยอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช เป็นอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 51,853 ตารางเมตร แบ่งเป็น พื้นที่โรงพยาบาล 47,537 ตารางเมตร พื้นที่รถไฟสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และพื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต่อเนื่องกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี-ศิริราช ช่วงเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน เลียบคลองบางกอกน้อย บนพื้นที่ 4.67 ไร่
ด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้รายละเอียดว่า สถานที่ดำเนินการโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช แบ่งส่วนตามลักษณะงานเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1. งานบริการผู้ป่วยนอก ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไปและบริการตรวจรักษาโรคเฉพาะทาง เน้นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ประกอบด้วย ศูนย์ตรวจสุขภาพ คลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพ คลินิกผิวหนัง คลินิกเลเซอร์ คลินิกเลสิก คลินิกไตเทียม คลินิกเคมีบำบัด เป็นต้น 2. งานบริการผู้ป่วยใน ให้บริการผู้ป่วยทางด้านอายุรกรรม และผู้ป่วยผ่าตัด ประกอบด้วย ห้องผ่าตัด 12 ห้อง ห้องผู้ป่วยวิกฤต (ICU) 12 เตียง และหอผู้ป่วยใน 78 เตียง 3. งานบริการหน่วยผู้ป่วยนอก (Ambulatory Unit) / การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One day Surgical care) ให้บริการรับตรวจผู้ป่วยที่เดินทางเข้ามารับบริการแล้วกลับบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องพักค้าง ประกอบด้วย การผ่าตัดทั่วไป การล้างไต และการให้เคมีบำบัด 4. งานบริการการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ ประกอบด้วย ศูนย์ห้องปฏิบัติการกลาง (Central Laboratory Center) ห้องเจาะเลือด และห้อง X-Ray และ 5. งานบริการส่วนของสถานีรถไฟ มีการออกแบบตัวสถานีและพื้นที่ชั้นใต้ดินเชื่อมต่อกับอาคารรักษาพยาบาล โดยในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีส้มจะมีทางเชื่อมต่อไปยังอาคารรักษาพยาบาล และจะใช้พื้นที่ชั้นพื้นดินเป็นโถงจำหน่ายบัตรโดยสารของรถไฟสายสีแดงอ่อน อีกทั้งจะมีทางเชื่อมต่อไปยังท่าเรือบางกอกน้อย ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว รวมถึงประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด สามารถเดินทางโดยรถไฟและมาต่อรถไฟฟ้า เพื่อมายังโรงพยาบาลศิริราชได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญและเป็นจุดเด่นของสถานีนี้คือการมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้ป่วย และจะมีการออกแบบพิเศษเพื่อการตัดสัญญาณคลื่นแม่เหล็กรบกวนเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งการออกแบบทางอพยพกรณีฉุกเฉิน ลิฟท์บริการผู้พิการ และโครงสร้างอื่นที่เกี่ยวข้อง
“งานบริการทั้งหมดนี้ จะมีฝ่ายสนับสนุนครบถ้วน เช่น งานเวชระเบียน งานธุรการ งานเภสัชกรรม งานจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ งานบัญชีและการเงิน งานทรัพยากรบุคคล และงานประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ อว. โดยคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลได้กำหนดระบบขนส่ง และระบบการติดต่อสื่อสาร เพื่อเชื่อมโยงการบริการของโครงการกับการบริการในส่วนพื้นที่ใกล้เคียงของโรงพยาบาลศิริราชให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการผู้ป่วยนอกได้เพิ่มขึ้น จำนวน 955,000 รายต่อปี และผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น จำนวน 7,000 รายต่อปี” รมว.อว. กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.