อว. - กกร. ประกาศความสำเร็จความร่วมมือการจัดทำ “แผนฉบับภาคเอกชน” นำร่อง 17 แผน เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระดับภาค ระดับกลุ่มจังหวัด ระดับจังหวัด กระจายความเจริญยกระดับเศรษฐกิจภูมิภาค “เอนก” ชี้เป็นเครื่องยนต์ที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยพุ่งไปข้างหน้า ด้าน ปลัด อว.เผยเป้าพัฒนาทิศทางชัดเจน ภาคเหนือเน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ชูระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เกษตร การแพทย์ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภาคตะวันออก ทำเป็นแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก อาหารปลอดภัย ส่วนภาคใต้ มุ่งการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ เผยระยะต่อไปทำแผนครอบคลุมทั่วประเทศภายใน ม.ค. 67
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานงานแถลงความสำเร็จของความร่วมมือการจัดทำ“ แผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค ภาคเอกชน พ.ศ. 2566 - 2570” ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กระทรวง อว. และคณะกรรม การร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย และส่งมอบแผนให้ กกร. อย่างเป็นทางการ ที่โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพมหานคร
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นการเกิดขึ้นของแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจระดับภาค ระดับจังหวัด ที่ริเริ่มโดยภาคเอกชน โดยมีภาครัฐเข้าใจ สนับสนุนและร่วมมืออย่างจริงจัง ทำให้ขณะนี้เรามีเครื่องมือในการดำเนินยุทธศาสตร์ หรือแผนพัฒนาประเทศที่มีผสมผสานทั้งมิติของภาครัฐและเอกชน โดยผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของภาคเอกชนในการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ครั้งนี้ก็คือ กกร. ซึ่งก็เป็นองค์กรภาคเอกชนที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูง ซึ่งเดิมทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือประชุมร่วมกับรัฐบาล และขณะนี้ กกร. ก็มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคด้วยความสนับสนุน ความเข้าใจของภาครัฐ โดยมีกระทรวง อว. เป็นกระทรวงหลักที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อน เพื่อทำให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคเป็นเครื่องยนต์ที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยพุ่งไปข้างหน้ามากยิ่งขึ้น เป็นระบบทวีอำนาจ ที่สานพลังของท้องถิ่นและภาคเอกชน ซึ่งกระทรวง อว.พร้อมสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังความสามารถ
จากนั้น ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. แถลงถึงความสำเร็จของความร่วมมือการจัดทำ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคภาคเอกชน พ.ศ. 2566 – 2570 ว่า การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคภาคเอกชน พ.ศ. 2566 – 2570 ได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว จำนวน 17 แผนนำร่อง พร้อมนำไปใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ทั้งระดับภาค 5 แผน คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ ระดับกลุ่มจังหวัดนำร่อง 6 แผน ประกอบด้วย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ภาคเหนือตอนล่าง 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก 2 และภาคใต้ฝั่งอันดามันและระดับจังหวัดนำร่อง 6 แผน ประกอบด้วย ลำปาง ตาก อุดรธานี ลพบุรี จันทบุรี และกระบี่
“ทั้ง 17 แผน ได้ชี้เป้าการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ดังนี้ ภาคเหนือ มุ่งเน้นการเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ฐาน BCG ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ความสำคัญกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการเกษตรมูลค่าสูง ศูนย์กลางทางการแพทย์ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ภาคกลาง เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมนวัตกรรม และศูนย์กลางการกระจายสินค้าเกษตร ภาคตะวันออก เป็นแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก อาหารปลอดภัย และการท่องเที่ยวคุณภาพสูง และภาคใต้ มุ่งสู่การท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ที่เน้นคุณค่าผลิตผลทางการเกษตรนวัตกรรมใหม่ นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นทิศทางการพัฒนาโครงการตามแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต (Global Trends) โดยมีตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 การพัฒนาเกษตรและอาหารมูลค่าสูงภาคเหนือ (Northern Thailand Food Valley) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2 การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถพัฒนาธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ภาคใต้ โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียง BCG ภาคใต้ เป็นต้น” ปลัด อว. กล่าว
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความสำเร็จของการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคภาคเอกชน ในครั้งนี้ เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ ที่ภาคเอกชนจะได้นำไปนำเสนอให้เป็นแนวทางในการวางแผน และเสนอโครงการในการขับเคลื่อนและแก้ไขบัญหาเศรษฐกิจของพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.