เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว., ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว., ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว., ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล และ รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. และคณะผู้บริหาร อว. ในการประชุมมอบนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุดมศึกษาตามแผนการดำเนินงานของโครงการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยผู้ที่ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีใหม่และเข้ารับมอบนโยบาย จำนวน 9 ราย ดังนี้
1. ผศ.ดร.กันยา บาร์นท์ ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
2. ผศ.ดร.ฉลอง สุขทอง ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
3. รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
4. ผศ.ดร.ปรีชา ศรีเรืองฤทธิ์ ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์
5. ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
6. ผศ.ดร. พจนีย์ สุขชาวนา ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
7. ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
8. ผศ.ไวกูณฑ์ ทองอร่าม ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
9. รศ. ดร. เสถียร ธัญญศรีรัตน์ ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า การได้รับการโปรดเกล้าให้ได้รับตำแหน่งอธิการบดีเป็นตำแหน่งที่ถือเป็นเกียรติกับตนเองอย่างมาก การประชุมมอบนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุดมศึกษาตามแผนการดำเนินงานของโครงการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ในครั้งนี้ถือเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารกระทรวง อว. และสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้มีการดำเนินงานร่วมกันมาเสมอ โดยมีประเด็นที่ต้องการกำชับให้อธิการบดีที่ได้รับตำแหน่งใหม่ มีดังนี้
(1) การแบ่งประเภทมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการบริหารงานได้ตามที่มหาวิทยาลัยแต่ละประเภทมีความถนัดและเชี่ยวชาญ
(2) การให้ตำแหน่งทางวิชาการ โดยอาจคำนึงถึงการสร้างประโยชน์อื่น นอกเหนือจากการสร้างผลงานวิจัย
(3) เร่งดำเนินการในเรื่อง ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) หรือ ระบบทะเบียนสะสมหน่วยกิตและกลไกในการเทียบโอนความรู้หรือสมรรถนะที่ได้จากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และจากประสบการณ์บุคคล และเรื่อง Higher Education Sandbox หรือ การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันประเทศไทยเกิดการ Disruption มากมาย โดยมีการใช้ระบบ AI ในการทำงานมากขึ้น รวมทั้งอัตราการเกิดที่ลดลงและการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ กลายเป็นโจทย์ให้มหาวิทยาลัยคิดเพื่อเพิ่มศักยภาพของประชากร อาจมีการลดระยะเวลาการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาเพื่อให้บุคลากรออกมาสู่วัยทำงานให้เร็วขึ้น เปิดหลักสุตรรองรับผู้สูงอายุ หรือมีการเรียนการสอนในหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ พยายามดึงผู้สูงอายุเข้าสู่ตลาดแรงงาน และที่สำคัญต้องมีการเปิดรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในประเทศไทยให้มากขึ้น
ทั้งนี้ รมว.อว. ยังฝากให้อธิการ รวมทั้งสภามหาวิทยาลัยดูแลมหาวิทยาลัยตามแบบฉบับของตน โดยต้องอยู่ภายใต้การประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด
ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับอธิการบดีที่ได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง โดยได้เพิ่มประเด็นให้อธิการบดี ดังนี้
(1) มหาวิทยาลัยควรพิจารณาเชื่อมโยงภาควิจัย ภาคนวัตกรรม ของสถาบันอุดมศึกษา ภายใต้ความช่วยเหลือจากกระทรวง อว. ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
(2) ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้เกิดมิติใหม่ในหลายด้าน เกิดการขับเคลื่อนบทบาทของมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนา เช่น โครงการ U2T for BCG หรือมหาวิทยาลัยสู่ตำบล โดยขอให้มหาวิทยาลัยใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์
(3) ปัจจุบันมีเครื่องมือและกลไกในการบริหารจัดการจำนวนมาก แต่อาจยังเข้าไม่ถึงภาคปฏิบัติเท่าที่ควร เช่น ในเรื่องของคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาสอนในมหาวิทยาลัย ขอให้อธิการบดีช่วยเร่งรัดการสื่อสารให้ทุกเรื่องนำไปสุ่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นางสาวอินทิรา บัวลอย
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.