ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี 2562 หรือ SUCCESS 2019 ที่มีผู้ประกอบการเทคโนโลยี และ Startup เข้าร่วมโครงการจำนวน 41 บริษัท เพื่อสร้างรากฐานความแข็งแรงให้องค์กรธุรกิจ ผ่านการเรียนรู้และกระบวนการบ่มเพาะต่าง ๆ เพื่อทำธุรกิจให้ยั่งยืน พร้อมโอกาสขยายตลาด ล่าสุดกับหนึ่งในผู้ประกอบการในโครงการ ‘แพลตฟอร์มทองหล่อ’ ที่ให้บริการตัดผมและเสริมความงามแบบครบวงจรนอกสถานที่ โดยช่าง Partners มืออาชีพ เข้าตานักลงทุน Angel Fund จำนวน 10 ล้าน เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโต และเข้าถึงใจของผู้ใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น พร้อมระบุช่วงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ยอดใช้งานเติบโตสูงขึ้น
นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สวทช. กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (SUCCESS) เพื่อเป็น โครงการสำหรับผู้บริหารกิจการ เจ้าของธุรกิจเทคโนโลยี Startup ทั้งกิจการด้านซอฟต์แวร์ ไอที เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึง เทคโนโลยีนาโน เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีอื่น ๆ โดยดำเนินโครงการมาแล้วถึง 17 รุ่น เหมาะสำหรับผู้ประกอบการเทคโนโลยี และ Startup ที่ต้องการสร้างรากฐานให้องค์กรธุรกิจ สามารถเติบโต และขยายฐานลูกค้าได้อย่างมั่นคง ด้วยกระบวนการเรียนรู้และบ่มเพาะ อาทิ การวินิจฉัยธุรกิจ การพบที่ปรึกษาด้านธุรกิจและอื่น ๆ การอบรมในหัวข้อเทคนิคการเจรจาต่อรอง เทคนิคการขาย การสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ การสร้างพันธมิตรภาครัฐและภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อความร่วมมือในการส่งเสริมการทำธุรกิจ การขยายตลาด เช่น การออกงานแสดงสินค้า การเข้าประกวดในเวทีต่าง ๆ และการเชื่อมโยงแหล่งสนับสนุนเงินทุนหรือร่วมลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“โครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ปี 2562 หรือ SUCESSS 2019 มีสมาชิกรวม 41 บริษัท แบ่งเป็น สมาชิกใหม่ 25 บริษัท และสมาชิกรุ่นต่อเนื่อง 16 บริษัท โดยรูปแบบของธุรกิจผู้ประกอบการและ Startup ในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการที่มีอยู่แล้วในรูปแบบ Offline ไม่ว่าจะเป็นการขายของมือสอง การขายอาหาร การตัดผม และได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมานำเสนอการให้บริการลูกค้าในรูปแบบใหม่ ซึ่งโดนใจและเข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคและความชอบในยุคปัจจุบันมากขึ้น เช่น Mombiestreet ตลาดขายของ Online แม่และเด็กมือสองแบรนด์ชั้นนำคุณภาพเยี่ยม, We Chef ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม We Chef Food Truck @PT station สำหรับผู้ที่ต้องการจองพื้นที่จอดเพื่อขายอาหารในปั้ม PT, Thonglor.co แพลตฟอร์มให้บริการตัดผมและเสริมความงามแบบครบวงจรถึงบ้านลูกค้า เป็นต้น หรือเป็นการนำนวัตกรรมและงานวิจัยมาเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า เช่น Petaneer นวัตกรรมทางการแพทย์สำหรับสัตว์เลี้ยงในกลุ่ม Pet Therapy หรือ Cmed Medical เจ้าของนวัตกรรมวีลแชร์ยืนได้และอุปกรณ์เครื่องยกย้ายผู้ป่วย เป็นต้น กิจกรรมที่ทำการบ่มเพาะให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีความเข้มข้นเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การวินิจฉัยธุรกิจ การพบที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ การฝึกอบรมและเวิร์คช็อปที่จำเป็น และในปีนี้ ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นในการโค้ชชิ่งให้กับ Startup เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพบนักลงทุน ด้วยการ Consult แบบ 1 ต่อ 1 กับที่ปรึกษา (1 on 1 Coaching and Preparation) เช่น การโค้ชชิ่งในหัวข้อที่มุ่งเน้นในเรื่องการทำ Financial Forecast การวางแผนการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การวางแผนกำลังคน การทำ Sale Plan การตั้ง KPIs การคิดวิเคราะห์ต้นทุนและราคาขาย การคิดและจัดทำโปรโมชั่น ตลอดจนหัวข้ออื่นๆ ที่เป็น Soft Skill แต่ขาดไม่ได้สำหรับการเตรียมตัวพบนักลงทุน เช่น เทคนิคการเจรจา การเตรียมตัวบริษัทเพื่อการร่วมทุน (How to Prepare Before Meet VC)
นอกจากนี้ โครงการยังได้รับสนับสนุนจากภาคเอกชนและบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งเป็นพันธมิตรมายาวนานอย่างต่อเนื่อง เช่น บัวหลวงเวนเจอร์ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด และรวมไปถึงการส่งมอบโอกาสให้ Startup ได้รับประสบการณ์การดำเนินธุรกิจจากพันธมิตรของ สวทช. ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกด้านอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมและสมาร์ทโฟนอย่างบริษัท “หัวเว่ย” เป็นต้น และยังเสริมสร้างความตระหนักและพัฒนาทักษะการแข่งขันในแต่ละ Sector ธุรกิจ เช่น Local Exhibition/Award ได้แก่ งาน StartupThailand, Thailand Tech Show, Digital Big Bang, Panus Thailand Logtech Award และการส่งเสริมการสร้างรายได้ ขยายฐานลูกค้า และออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ (International/Local Exhibition) ได้แก่ งาน Taiwan Innotech Expo, Meet Taipei, Startup Launchpad ป็นต้น” ผอ.ศูนย์ BIC สวทช. กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จหรือ SUCCESS จากโครงการประจำปี 2562 รายหนึ่ง โดยเกิดการร่วมทุนในรูปแบบ VC/CVC ในผู้ประกอบการ Sector ต่าง ๆ คือ บริษัท คีย์ จำกัด ได้รับการร่วมทุนจากนักลงทุนในรูปแบบ Angel Fund หรือผู้สนับสนุนเงินลงทุนเพื่อการจัดตั้งธุรกิจและดำเนินธุรกิจ เป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาท (CVC by Investor) โดยบริษัท คีย์ จำกัด คือ ผู้พัฒนาออนไลน์แพลตฟอร์ม thonglor.co ที่ให้บริการตัดผม และเสริมความงาม แบบครบวงจรนอกสถานที่ โดยช่าง Partners มืออาชีพ
คุณธนาชัย ไหลศิริ CEO บริษัท คีย์ จำกัด หรือคุณทอม หนึ่งในผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มทองหล่อ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีว่า Thonglor.co เป็นแพลตฟอร์มที่ทำการจับคู่ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเสมือนตลาดให้ผู้สนใจขายมาวางสินค้าของตนเอง ด้วยการรวมช่างบริการเกี่ยวกับผมทั้งชายและหญิง ช่างแต่งหน้า ช่างทำเล็บ และอื่น ๆ ที่นำเสนอบริการให้ถึงที่บ้าน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาให้มีบริการครอบคลุมทุกหมวดหมู่ความงาม ที่ไม่ใช่เพียงโมเดลธุรกิจจับแพะชนแกะทั่วไป แต่จะมีการลงทะเบียนช่างผู้ให้บริการ อบรมช่าง วางมาตรฐาน ที่ทุกอย่างออกแบบโดยช่างซาลอนจริง ๆ ที่มีประสบการณ์จริง เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า โดยที่ผ่านมา เราได้เก็บฟีดแบคของลูกค้าที่รับบริการเพื่อนำมาพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
“ด้วยจุดเด่นของแพลตฟอร์มทองหล่อที่เรามีช่างมืออาชีพออนไลน์อยู่กับเราตลอดเวลา ทำให้พร้อมที่จะนำเสนอบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยจะมีการเก็บอ้างอิงเบื้องต้นก่อนจากลูกค้า เพื่อจับคู่ช่างที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่สุด ซึ่งจะมีขั้นตอนที่เข้มงวดในการลงทะเบียนช่างเพื่อให้ลูกค้าอุ่นใจในการรับบริการในสถานที่ของลูกค้าเอง อีกทั้งยังสามารถยืดหยุ่นในเรื่องเวลาค่อนข้างสูงเพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่มีความเร่งรีบและไม่แน่นอน ซึ่งช่างที่เป็นพาร์ทเนอร์เองจะมีความยืดหยุ่นด้วยเช่นกัน โดยเราจะป้อนงานช่างให้ตลอดเวลา ทำให้ช่างแต่ละคนสามารถจัดการตารางตัวเองได้ จะทำเป็นงานเสริมหรืองานหลักย่อมได้ ตอบโจทย์แก่ยุคสมัยปัจจุบัน นอกจากนี้ ในภาพใหญ่แพลตฟอร์มทองหล่อจะเป็นระบบแบบสองทาง ที่มีการเก็บข้อมูลจากลูกค้าทั้งก่อนและหลังรับบริการ และอีกส่วนคือ ข้อมูลของช่างทั้งก่อนและหลังให้บริการ รวมถึงคะแนนของช่างเพื่อให้ช่างรักษาระดับและพัฒนาตนเองตลอดเวลา เพื่อให้สมกับความตั้งใจที่จะเพิ่มมูลค่าและยกระดับการบริการช่างซาลอนให้มีคุณภาพ ซึ่งเราต้องการสร้าง “สังคมทองหล่อ” ให้มีชีวิต คงไว้ซึ่งภาวะการณ์แข่งขัน เพื่อให้มีคุณค่ายิ่งขึ้นไป โดยเชื่อว่า ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์การบริการที่ดี และจะกลับมาใช้ซ้ำอย่างแน่นอน”
คุณทอม กล่าวต่อว่า การเข้าร่วมโครงการ SUCCESS 2019 ของ สวทช. ทำให้บริษัทฯ ได้รับคำปรึกษาจากคณะอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ธุรกิจของเราดำเนินไปอย่างถูกทิศทาง ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ทั้งในด้านการประชาสัมพันธ์ การจับมือกับพันธมิตร โอกาสได้พบปะกับนักลงทุน ได้โอกาสในการรับเงินทุนสนับสนุนเพื่อนำมาส่งเสริมด้านการตลาด อาทิ Startup Voucher ได้เข้าร่วมคอร์สอบรมเสริมความรู้ และพัฒนาศักยภาพในการบริหารธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ คือ โอกาสในการสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของผู้ประกอบการธุรกิจ ในธุรกิจแพลตฟอร์มทองหล่อ จนเกิดร่วมทุนจากนักลงทุนในรูปแบบ Angel Fund เป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งแนวทางต่อยอดทางการตลาดหลังจากนี้ เราจะเน้นไปที่การสื่อสารกับลูกค้าและช่างผู้ให้บริการที่เป็นพาร์ทเนอร์กับเราเป็นหลัก โดยจะสื่อการด้านการบริการว่า ทองหล่อ คืออะไร และแตกต่างกับร้านตัดผมธุรกิจซาลอนดั้งเดิมอย่างไร แพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาแก้ปัญหาอย่างไร ทำไมต้องเป็น ‘ทองหล่อ’ รวมถึงช่างพาร์ทเนอร์ของเราเอง จะได้สื่อสารเรื่องวัฒนธรรมองค์กรและวิสัยทัศน์ของเรา เพื่อให้มีความเข้าใจทิศทางของ ‘ทองหล่อ’ มากขึ้น นอกจากนี้ ทุนอีกส่วนเรามีแผนที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อให้ใกล้ชิดกับลูกค้ามากยิ่งขึ้นโดยตั้งใจจะทำให้การบริการมีความง่ายและตอบโจทย์ที่สุด ซึ่งผู้สนใจใช้บริการสามารถใช้บริการผ่าน www.thonglor.co หรือช่องทางไลน์ OA (หรือไลน์ทางการ: Line official account) ที่ @ThongLor ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง
“สำหรับในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า แพลตฟอร์มทองหล่อที่เน้นการให้บริการถึงบ้านอยู่แล้ว ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ต้องออกจากบ้าน สามารถจัดการเวลาได้ ‘ทองหล่อ’ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 จึงมีความต้องการสูงมาก โดยอัตราการเติบโต (Growth rate) สูงถึง 500% และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่การออกจากบ้าน คือ ความเสี่ยง ทางแพลตฟอร์มทองหล่อ จึงได้เพิ่มมาตรการพิเศษเพื่อให้ลูกค้าที่รับบริการมั่นใจว่าจะปลอดภัยโดยปราศจากความเสี่ยง เช่น การเพิ่มชุดให้รัดกุมขณะให้บริการ การฉีดพ่นเครื่องมือทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการบริการ รวมถึงการให้ผู้ให้บริการใส่หน้ากากอนามัยหรือ Mask ตลอดเวลาที่ให้บริการ” CEO บริษัท คีย์ จำกัด กล่าวอย่างมั่นใจ
ข้อมูลข่าวโดย : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.