สาระน่ารู้

     n20221201152327 158422

      ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องการกระจายเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ภูมิภาคมาอย่างยาวนาน จากข้อมูลใน พ.ศ. 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่า กรุงเทพมหานครฯ ครองสัดส่วน GDP ไปถึงร้อยละ 38 ของประเทศ ในขณะที่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ครองส่วนแบ่ง GDP ไม่ถึงร้อยละ 10

      ปัญหาการกระจุกตัวของความเจริญในเมืองใหญ่จึงไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจระดับประเทศ เพราะส่งผลให้ทรัพยากรบุคคลที่อยู่ต่างจังหวัดหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ และทำให้เกิดปัญหาด้านการบริหารจัดการตามมา นอกจากนี้ยังส่งผลให้ทรัพยากรที่อยู่ตามภูมิภาคไม่ถูกนำมาใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพ

      ปัจจุบัน แนวคิดการพัฒนาศูนย์กลางเศรษฐกิจตามภูมิภาคจึงเกิดขึ้นภายใต้แผนการ "พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ" โดยเน้นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคต่างๆ การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และกติกา เพื่อให้เอื้อต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงดึงเอาอัตลักษณ์ของภูมิภาคนั้นๆ ยกขึ้นมาเป็นจุดเด่น และเชื่อมโยงไปถึงการค้าชายแดนที่จะเป็นโอกาสสำหรับขยายการลงทุน

ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor, EEC) พื้นที่นำร่องเพื่อการพัฒนา

      การพัฒนาพื้นที่ EEC ที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program) ที่มีส่วนสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา

     ดังนั้น อุตสาหกรรมเป้าหมายของ EEC จึงเป็นการพัฒนาต่อยอดจากฐานทรัพยากรเดิมในพื้นที่ เช่น ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Electronic Vehicles, EV) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นต้น โดยหนึ่งในเป้าหมายของแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก คือการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเรื่องนี้ และได้จัดตั้งแผนพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) แยกออกมาการดำเนินการภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand: EECd)

     EECd ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 830 ไร่ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค เน้นให้เกิดการลงทุนธุรกิจดิจิทัลควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ตลอดจนยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีเดิมไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่ (New S-Curve Digital Industry) อีกทั้งยังเป็นศูนย์สร้างธุรกิจดิจิทัลใหม่ ๆ ที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ ภายในพื้นที่กว่า 830 ไร่ เป็นที่ตั้งของหลายองค์กร และหนึ่งในนั้นคือ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ หรือ Space Krenovation Park เรียกสั้นๆ ว่า SKP ภายใต้การกำกับดูแลของ GISTDA

     คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับความเห็นชอบให้กำหนด SKP เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Park) และ กพอ. ได้ประกาศกำหนดให้ SKP เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีบทบาทในการผลักดันอุตสาหกรรมการบินและอวกาศที่อยู่ในเขตพื้นที่ EECd และส่งเสริมให้เกิดการลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่สนใจในการลงทุน ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)

    "SKP เป็นส่วนงานของ GISTDA ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ก่อนการจัดตั้งเขตพื้นที่ EECd มีโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค ที่ค่อนข้างครบครัน ดังนั้น SKP จึงเป็นสถานที่ที่พร้อมรองรับทั้งผู้บริหาร นักลงทุน นักวิจัย นวัตกร และนักการทูตจากประเทศต่างๆ ที่สนใจเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศรวมตลอดถึงอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย"

     "SKP มีศูนย์ทดสอบวัสดุอวกาศยานมาตรฐานระดับสากล เพื่อให้บริการทดสอบวัสดุโครงสร้าง หรือวัสดุของอวกาศยาน ทั้งธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนอวกาศยานและการซ่อมบำรุงอวกาศยาน มีศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ เป็นศูนย์สำหรับประกอบ ทดสอบดาวเทียม (AIT Facility Competency) เพื่อการวิจัยและพัฒนารวมไปถึงการทดสอบชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย"

นอกจากนี้ GISTDA ยังมีแผนความร่วมมือส่งเสริมธุรกิจปลายน้ำด้านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมในเชิงพาณิชย์ เชื่อมโยงสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลในอนาคต

ข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศคือความโดดเด่นของ SKP ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลใน EECd

      ปัจจุบัน ข้อมูลดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม และ GISTDA ก็มีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลดาวเทียมแห่งชาติ เพื่อให้บริการแก่หน่วยงานที่มีความสนใจ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมได้สูงสุด ซึ่งสอดรับเป็นอย่างดีกับแผนการพัฒนา Data Center ของ EECd

     ที่ผ่านมา SKP ได้จัดแสดงนวัตกรรมทางดิจิทัลที่ประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ เช่น การจัดแสดงระบบดาวเทียมนำทาง (GNSS) ของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมระบุตำแหน่งแม่นยำสูงต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในด้านเกษตร พาหนะไร้คนขับ การสำรวจ และการก่อสร้างด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย

       นอกจากนี้ SKP ยังมี Astrodynamics Research Laboratory หรือ Astrolab ซึ่งเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศ ซึ่งเน้นด้านกลศาสตร์วงโคจรของประเทศไทยแบบครบวงจร ที่มุ่งการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศใน 4 ด้านหลักๆที่สำคัญ ได้แก่

1. การวิจัยและศึกษาพลวัตของการบินในอวกาศ (Space flight dynamics)

2. การวิจัยพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ควบคุมการปฏิบัติการดาวเทียมขนาดเล็ก 100-500 kg (Onboard flight software for small satellite 100-500 kg)

3. การวิจัยที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและบรรเทาภัยจากขยะอวกาศหรืออุกกาบาตที่กระทบต่อมวลมนุษยชาติ (Space debris and asteroid mitigation)

4. การศึกษาวิจัยทางด้านพยากรณ์สภาพอวกาศ (Space weather forecast)

โดยภารกิจทั้ง 4 ด้านของ Astrolab นี้สามารถต่อยอดพัฒนาธุรกิจอื่นๆ ในอุตสาหกรรมดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

      พื้นที่ EECd เป็นความหวังของประเทศไทยที่จะผลักดันขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ และเกิดเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับผู้คนมากมาย ทำให้เกิดการกระจายตัวของประชากรออกสู่ภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ทุกการพัฒนาย่อมเกิดจากรากฐานที่มั่นคง ดังนั้น ในช่วงแรกของ EECd จึงเป็นการเร่งเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ SKP ภายใต้การกำกับดูแลของ GISTDA ก็พร้อมสนับสนุนข้อมูลดาวเทียมและเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EECd ในระยะต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูล: นายชินทัตต์ เขียวแก้ว นักพัฒนานวัตกรรมชำนาญการ กลุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ จาก GISTDA

ที่มา : https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=6572&lang=TH
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

 

เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313

318718384 547092767460381 6368130691011701518 n

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
ประสบผลสำเร็จในการปรุงน้ำหอมจากน้ำมันเปลือกมะนาวเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมะนาว ภายใต้กลิ่น Cool 3 (กลิ่นที่สื่อถึงสัญลักษณ์ 3 อย่างของจังหวัดเพชรบุรี) 

       กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) ดร.ขนิษฐา ชวนะนรเศรษฐ์ นักวิจัย ศนส. และทีมงานวิจัย ประสบผลสำเร็จในการปรุงน้ำหอมจากน้ำมันเปลือกมะนาวเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมะนาว ภายใต้กลิ่น Cool 3 ซึ่ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด เลมอนโกลด์ (แอล.เอ็ม.จี) จังหวัดเพชรบุรี ผู้ประกอบการด้านการผลิตน้ำมะนาวแช่แข็งและน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกมะนาว ได้มอบโจทย์การผลิตให้ ศนส. วว. โดยให้มีองค์ประกอบหลักของน้ำหอมที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี 3 ประการ ได้แก่ 1) มะนาว 2) น้ำตาลโตนด และ 3) น้ำทะเล

     ทั้งนี้ น้ำหอมจากน้ำมันเปลือกมะนาวเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมะนาว ที่ วว. ปรุงสำเร็จนั้น มีองค์ประกอบของสารสกัดขนแพะที่ช่วยทำให้กลิ่นน้ำหอมติดทนนานและมีความหอมซับซ้อน โดยได้รับการยอมรับและถูกนำเสนอให้เป็นผลงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งที่เติมเต็ม BCG Economy Model ซึ่งส่งผลให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด เลมอนโกลด์ฯ ได้รับรางวัล Thailand TOP SME Awards 2022 จาก ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ในด้านสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 2 ธันวาคม 2565 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การสร้างความแตกต่าง และการบริหารจัดการที่โดดเด่นในด้านต่างๆ รวมทั้งเพื่อสร้างให้เกิดองค์กรต้นแบบ อันจะเป็นกรณีศึกษาให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย โดยทั้งน้ำหอมและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เป็นการใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตน้ำมะนาว จะถูกนำไปจัดแสดง ณ SME Bank จังหวัดนนทบุรี
       อนึ่ง วว. อยู่ในระหว่างการขอทุนโครงการวิจัย จาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ในการดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากน้ำมะนาว น้ำมันหอมระเหยและจัดทำมาตรฐานน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกมะนาวเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมผลิตน้ำมะนาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ผลผลิตผลมะนาวล้นตลาดและมีราคาถูกจากการเกษตรกรในจังหวัดเพชรบุรีให้แหล่งจำหน่ายและต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำมะนาวและน้ำมันจากเปลือกมะนาวเหลือทิ้งในการใช้ประโยชน์จากน้ำมะนาวจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการจัดทำมาตรฐานน้ำมันมะนาว, Lime (Citrus aurantiifolia) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาในมาตรฐานน้ำมันจากเปลือกมะนาวเพื่อการส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ
ทั้งนี้ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) วว. มีความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการสกัดสารสำคัญจากสมุนไพรและศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและพิษวิทยา เพื่อนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางสมุนไพรและสามารถต่อยอดงานวิจัยด้วยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ให้กับผู้ประกอบการ สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืน

     สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9104 (คุณณัฏพรรณ โภคบุตร) E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

นำเสนอข่าวโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร วว. โทร. 0 2577 9360 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. Line@TISTR IG : tistr_ig

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

 

เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313

SLRI

 

       ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราพาทุกคนไปไขคำตอบกับงานวิจัยมากมาย จากชนวนความสงสัยสู่การทดลองที่ส่องลึกไปในระดับอะตอมด้วยแสงซินโครตรอนกันมาแล้ว วันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน” ซึ่งอยู่เบื้องหลังงานวิจัยเหล่านี้กันให้มากยิ่งขึ้น ว่าที่นี่กำลังทำอะไร และมีความสำคัญอย่างไร ถึงถูกขนานนามได้ว่าเป็นที่หนึ่งและเป็นศูนย์กลางในอาเซียนด้านแสงซินโครตรอน มากว่า 20 ปี


       ย้อนไปเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2539 คณะรัฐมนตรีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้มีการอนุมัติโครงการแสงสยาม และการก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติขึ้น ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เพื่อทำการค้นคว้าวิจัยด้านแสงซินโครตรอนภายในประเทศ จนในปัจจุบันได้ถูกเปลี่ยนชื่อและยกระดับเป็น “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)” ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดยมีหน้าที่และบทบาทที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น

1. วิจัยและพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนในด้านต่างๆ
2. ให้บริการแสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอนกับทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา
3. ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรให้มีความเข้าใจเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน

      ซึ่งพันธกิจนี้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง เครื่องกำเนิดแสงซินโคตรอนที่มีชื่อว่า “เครื่องกำเนิดแสงสยาม” ที่นับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยขนาดพลังงาน 1.2 GeV มาพร้อมกับ 12 ระบบลำเลียงแสง 13 สถานีทดลอง ทำให้ครอบคลุมการทดลองในหลายเทคนิค ได้แก่ เทคนิคการกระเจิงและการเลี้ยวเบนรังสี เทคนิคการดูดกลืนรังสี เทคนิคการปลดปล่อยอิเล็กตรอน เทคนิคการเรืองรังสี และเทคนิคการอาบรังสี

      ไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะทางสถาบันยังให้บริการด้านอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นบริการเครื่องมือวิทยาศาสตร์พื้นฐาน บริการเทคนิคและวิศวกรรม บริการการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีไปจนถึงบริการแบบ Total Solution Service เพียงคุณก้าวเข้ามาก็สามารถช่วยแก้ปัญหาในกระบวนการผลิตหรือช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากขึ้นจนพร้อมออกสู่ตลาดได้

       และในอนาคต ทางสถาบันกำลังเดินหน้าสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ “เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV” ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 6,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว นับเป็นก้าวสำคัญของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ที่จะเข้ามาพัฒนาวงการอุตสาหกรรมไทยให้สามารถรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ทำความรู้จักสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เพิ่มเติม > https://www.slri.or.th/

 

ที่มา : สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.)

เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313