1. ดาวอังคารใกล้โลก และ ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์
วันที่ 12 - 16 มกราคม 2568 เป็นช่วงเวลาเหมาะสมในการสังเกตการณ์ดาวอังคารมากที่สุด เนื่องจากคืนวันที่ 12 มกราคม 2568 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ระยะห่างประมาณ 96 ล้านกิโลเมตร และหลังจากนั้นจะโคจรไปอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์วันที่ 16 มกราคม 2568 ช่วงดังกล่าวสามารถสังเกตดาวอังคารได้ตลอดทั้งคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป หากสังเกตด้วยตาเปล่าจะเห็นดาวอังคารส่องสว่างประกายสีส้มแดงบนท้องฟ้า และเมื่อสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะเห็นพื้นน้ำแข็งสีขาวที่อยู่บริเวณขั้วของดาวอังคารได้
ดาวอังคารไม่ได้เข้าใกล้โลกมากที่สุดในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์พอดี เนื่องจากวงโคจรของดาวอังคารค่อนข้างรี จึงทำให้วันที่ดาวอังคารเข้าใกล้โลกมากที่สุดนั้นเคลื่อนไปจากวันที่ดาวอังคารอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์เล็กน้อย ซึ่งดาวอังคารจะเคลื่อนมาอยู่ในตำแหน่งนี้ทุก ๆ 26 เดือน
2. ดาวศุกร์สว่างที่สุด
ในปี 2568 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุด 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ช่วงหัวค่ำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 21:00 น. และ ครั้งที่ 2 ช่วงเช้ามืดวันที่ 24 เมษายน 2568 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 03:51 น. จนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ คาดว่ามีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 (ดวงจันทร์เต็มดวง มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ -12)
ดาวศุกร์สว่างที่สุด (The Greatest Brilliancy) คือช่วงที่ดาวศุกร์โคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม และมีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ จึงปรากฏสว่างมากบนท้องฟ้า สำหรับในช่วงอื่น แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ที่ห่างจากโลก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย การที่เราเห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวอยู่เสมอ เนื่องจากดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ โคจรรอบดวงอาทิตย์ใกล้กว่าโลก จึงไม่สามารถเห็นดาวศุกร์สว่างเต็มดวงได้ เพราะจะปรากฏสว่างเต็มดวงเมื่ออยู่หลังดวงอาทิตย์ ดังนั้น คนบนโลกจึงมองเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวอยู่เสมอ ความหนาบางของเสี้ยวแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่งของวงโคจร และปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้มากที่สุด 47.8 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือในช่วงเวลาดึก ทั้งนี้ หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืด คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”
3. ดาวเสาร์เสมือนไร้วงแหวน
ช่วงวันที่ 23 - 24 มีนาคม 2568 จะเป็นช่วงที่วงแหวนดาวเสาร์มีมุมเอียงน้อยที่สุด ผู้สังเกตบนโลกจึงมองเห็นดาวเสาร์เสมือน "ไร้วงแหวน" ซึ่งมุมเอียงของวงแหวนดาวเสาร์จะเปลี่ยนแปลงไปตามการโคจรของดาวเสาร์รอบดวงอาทิตย์ หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 29.4 ปี ส่งผลให้ดาวเสาร์จะปรากฏเสมือน "ไร้วงแหวน" เมื่อมองจากโลกในทุก ๆ 15 ปี
ช่วงเวลาดังกล่าวดาวเสาร์จะปรากฏใกล้กับดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่บนท้องฟ้าในช่วงเวลากลางวันและยากต่อการสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก แต่ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงมุมเอียงและโครงสร้างของวงแหวนดาวเสาร์ในระนาบต่าง ๆ
นักดาราศาสตร์สามารถใช้ช่วงเวลานี้ในการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฝุ่นและอนุภาคในวงแหวนดาวเสาร์ รวมถึงการกระจายตัวของอนุภาคเหล่านี้ นอกจากนี้ ความน่าสนใจคือระนาบการเอียงที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปี ทำให้วงแหวนดาวเสาร์ปรากฏแตกต่างไปตามมุมมองที่มองจากโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์ของการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่น่าติดตาม
4. ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี
วันที่ 21 กันยายน 2568 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงกันในแนวเส้นตรง ส่งผลให้ดาวเสาร์มีระยะใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 1,279 ล้านกิโลเมตร หรือ 8.55 หน่วยดาราศาสตร์ ในวันดังกล่าวจะสังเกตดาวเสาร์ได้ทางทิศตะวันออกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ปรากฏสว่างเด่นชัดตลอดทั้งคืน จนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันถัดไป
ดาวเสาร์โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นรูปวงรี ระยะห่างของดาวเสาร์ในช่วงใกล้โลกแต่ละครั้งจึงมีค่าไม่เท่ากัน อยู่ที่ประมาณ 8-9 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งดาวเสาร์จะใกล้โลกทุก ๆ 378 วัน นอกจากนี้ ระนาบเส้นศูนย์สูตรและวงแหวนดาวเสาร์ทำมุมเอียงกับระนาบวงโคจรของดาวเสาร์รอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ลักษณะปรากฏของวงแหวนดาวเสาร์มีมุมเอียงหันเข้าหาโลกแต่ละครั้งไม่เหมือนกันอีกด้วย
5. จันทรุปราคาเต็มดวง
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาในปี 2568 เป็นปรากฏการณ์ "จันทรุปราคาเต็มดวง" เกิดขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ 7 กันยายน 2568 เวลา 22:29 น. ถึงเช้ามืดวันที่ 8 กันยายน 2568 เวลา 03:55 น. (ตามเวลาประเทศไทย) สังเกตได้หลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา ตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ ตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ สำหรับประเทศไทยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าตลอดปรากกฏการณ์ ซึ่งช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นสีแดงอิฐ ตั้งแต่เวลา 00:31 ถึง 01:53 น. รวมระยะเวลานาน 1 ชั่วโมง 22 นาที
ลำดับการเกิดปรากฏการณ์
- เริ่มเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว
7 กันยายน 2568 เวลา 22:29 น.
- เริ่มเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน
7 กันยายน 2568 เวลา 23:27 น.
- เริ่มเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง
8 กันยายน 2568 เวลา 00:31 น.
- กึ่งกลางคราส
8 กันยายน 2568 เวลา 01:12 น.
- สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง
8 กันยายน 2568 เวลา 01:53 น.
- สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน
8 กันยายน 2568 เวลา 02:57 น.
- สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว
8 กันยายน 2568 เวลา 03:55 น.
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง หรือช่วงข้างขึ้น 14-15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อย ๆ จนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก
6. ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี
ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี ทำให้ทุก ๆ เดือนดวงจันทร์ผ่านตำแหน่งใกล้โลกที่สุด เรียกว่า “Perigee” และไกลโลกที่สุดเรียกว่า “Apogee” อยู่เสมอ แต่เมื่อใดก็ตามที่ดวงจันทร์เต็มดวงและอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้โลกที่สุดในรอบปี จะเรียกว่า “Super Full Moon” ในทางตรงกันข้าม หากดวงจันทร์เต็มดวงและอยู่ในตำแหน่งที่ห่างไกลโลกที่สุดในรอบปี จะเรียกว่า “Micro Full Moon”
ในปี 2568 ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี” (Micro Full Moon) ตรงกับวันที่ 13 เมษายน 2568 มีระยะห่างจากโลกประมาณ 405,995 กิโลเมตร คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กว่าปกติเล็กน้อย เริ่มสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:48 น. เป็นต้นไป ส่วนปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” (Super Full Moon) จะตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2568 มีระยะห่างจากโลกประมาณ 356,966 กิโลเมตร คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เริ่มสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกตั้งแต่เวลาประมาณ 17:31 น. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ขนาดปรากฏของดวงจันทร์ในช่วงใกล้โลกที่สุดมีความแตกต่างกับช่วงไกลโลกที่สุดเพียงร้อยละ 14 และมีความสว่างต่างกันประมาณร้อยละ 30
7. ฝนดาวตกน่าติดตาม ในปี 2568
ฝนดาวตก (Meteor showers) เกิดจากการที่โลกโคจรตัดผ่านสายธารของเศษหินและฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ในอวกาศ เป็นเศษที่หลงเหลือจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย หรือเศษวัตถุที่ปล่อยออกมาจากดาวหาง โดยแรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดเศษวัตถุเหล่านี้เข้ามา ทำให้เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ ในช่วงเวลานี้จึงเกิดดาวตกบนท้องฟ้าในอัตราที่สูงกว่าปกติ หรือบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball
“ฝนดาวตก” แตกต่างจาก “ดาวตก” ทั่วไป คือมีทิศทางจากจุด ๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้น ๆ นอกจากนี้ ฝนดาวตกแต่ละชุดนั้นจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิมของทุกปี เพราะในหนึ่งปีที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ โลกจะโคจรตัดผ่านสายธารเศษฝุ่นที่ดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยทิ้งเอาไว้เมื่อครั้งที่โคจรมาใกล้ดวงอาทิตย์ ซึ่งสายธารเหล่านั้นคงอยู่ที่ตำแหน่งเดิมเสมอ เมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปก็จะดึงดูดเอาเศษฝุ่นเข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการเผาไหม้ ปรากฏเป็นแสงวาบให้คนบนโลกเห็นเป็นดาวตกหลายดวงที่พุ่งออกมาจากจุดเดียวกันนั่นเอง
8. ดาวเคียงเดือน และ ดาวเคราะห์ชุมนุม
“ดาวเคียงเดือน” เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ ตามแนวสุริยะวิถี เมื่อมองในมุมมองจากโลกจึงเห็นดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกัน
ส่วน “ดาวเคราะห์ชุมนุม” หมายถึง ดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุม 1-5 องศา หากมองด้วยตาจะเห็นดาวทั้งสองห่างกันประมาณหนึ่งนิ้วก้อย (การวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า ชูนิ้วก้อยเหยียดแขนให้สุดขึ้นบนท้องฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย)
ติดตามชมความสวยงามของ “ดาวเคียงเดือน” และ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” ได้ตลอดทั้งปี
9. ดวงอาทิตย์ตั้งฉากประเทศไทย
ดวงอาทิตย์ไม่ได้ผ่านจุดเหนือศีรษะพอดีในทุก ๆ วัน มีเพียง 1 - 2 วันต่อปีเท่านั้นที่ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากกับผู้สังเกตบนโลก ทำให้เมื่อยืนกลางแดดในช่วงเที่ยงของวันดังกล่าว จะสังเกตเห็นเงาของร่างกายทอดอยู่ใต้เท้าพอดี ไม่เฉียงไปด้านใดด้านหนึ่ง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “วันไร้เงา” ทั้งนี้วันและเวลาของการเกิดปรากฏการณ์ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของผู้สังเกตบนโลก และจะมีเพียงผู้สังเกตที่อยู่และติจูด ตั้งแต่ 23.5 องศาเหนือ ไปจนถึงละติจูด 23.5 องศาใต้ เท่านั้นที่จะเกิดปรากฏการณ์นี้ได้
ประเทศไทยมีช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะ 2 ครั้งในรอบปี ครั้งแรกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม โดยเริ่มจากภาคใต้ในช่วงต้นเดือนเมษายน ไล่ไปจนถึงกรุงเทพฯ ตรงกับวันที่ 27 เมษายน 2568 และภาคเหนือในเดือนพฤษภาคม และครั้งที่สองในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน โดยเริ่มจากภาคเหนือในปลายเดือนกรกฎาคม ไล่ไปจนถึงกรุงเทพฯ ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 2568 และภาคใต้ในช่วงเดือนกันยายน
10. ฤดูกาลทางดาราศาสตร์
ฤดูกาลบนโลกนั้น เกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ช่วงเวลากลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน แตกต่างกับฤดูหนาว ที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว และมีช่วงเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ทำให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ดังนี้
วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม 2568 จะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน เรียกว่า “วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox)” ซีกโลกเหนือเป็นฤดูใบไม้ผลิ ซีกโลกใต้เป็นฤดูใบไม้ร่วง
วันครีษมายัน (Summer Solstice) ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน 2568 จะเป็นวันที่ขั้วโลกเหนือชี้เข้าหาดวงอาทิตย์ เรียกว่า “วันครีษมายัน (Summer Solstice)” กล่าวคือ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เฉียงไปทางเหนือมากที่สุดคือ 23.5 องศา ผู้ที่อยู่ซีกโลกเหนือจะอยู่ในช่วงฤดูร้อน และวันดังกล่าวเป็นวันที่มี “กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี” ในขณะที่ซีกโลกใต้จะอยู่ในช่วงฤดูหนาว และเป็นวันที่ “กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี”
วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) ตรงกับวันที่ 23 กันยายน 2568 จะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีอีกครั้ง ส่งผลให้กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากันเรียกว่า “วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)” ซีกโลกเหนือเปลี่ยนจากฤดูร้อนเป็นฤดูใบไม้ร่วง ซีกโลกใต้เปลี่ยนจากฤดูหนาวเป็นฤดูใบไม้ผลิ อีกทั้งยังเป็นวันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน
วันเหมายัน (Winter Solstice) ตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม 2568 จะเป็นวันที่ขั้วโลกใต้ชี้เข้าหาดวงอาทิตย์ เรียกว่า “วันเหมายัน (Winter Solstice)” กล่าวคือ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เฉียงไปทางใต้มากที่สุด คือ -23.5 องศา ผู้ที่อยู่ซีกโลกเหนือจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว และวันดังกล่าวเป็นวันที่มี “กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี” ในขณะที่ซีกโลกใต้จะอยู่ในช่วงฤดูร้อน และเป็นวันที่ “กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี” (ตรงข้ามกับ Summer Solstice)
สามารถติดตามข่าวสารได้ทางเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/NARITpage
ที่มา : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์เเห่งชาติ (สดร.)
https://www.facebook.com/NARITpage
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.