ครม. ผลักดันแผนจัดการขยะพลาสติก ภายในปี 65 ตอบโจทย์การแก้ปัญหาขยะด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน
ครม. ผลักดันแผนจัดการขยะพลาสติก ภายในปี 65 ตอบโจทย์การแก้ปัญหาขยะด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 - 2565 เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เป้าหมายที่ 1 คือการลด เลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด ทดแทนด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% ได้แก่
1. ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน
2. กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่รวมถึงโฟมที่ใช้กันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม
3. แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ
4. หลอดพลาสติก ยกเว้นการใช้กรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น
เป้าหมายที่ 2 คือการนำพลาสติกใน 7 กลุ่ม กลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่น้อยกว่า 50% ได้แก่
1. ถุงพลาสติกหูหิ้ว (HDPE LLDPE LDPE และ PP)
2. บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว (HDPE และ LL/LDPE)
3. ขวดพลาสติก (ทุกชนิด)
4. ฝาขวด
5. แก้วพลาสติก
6. ถาด/กล่องอาหาร
7. ช้อน/ส้อม/มีด
โดยทั้ง 2 เป้าหมายนี้ ตั้งเป้าให้สำเร็จภายในปี 2565 คาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี ประหยัดงบประมาณจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับพื้นที่ฝังกลบและกำจัดขยะมูลฝอยพลาสติก ได้ประมาณ 2,500 ไร่ โดยการคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตัน
ในส่วนของมาตรการ จะมุ่งเน้นการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต, การลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค, และการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยให้ความสำคัญกับการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามแนวทาง BCG Economy Model ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งการดำเนินการตามแผนนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อน พร้อมด้วยหน่วยงานระดับพื้นที่ ระดับท้องถิ่น รวมถึงกลุ่มผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย องค์กรเอกชน และผู้บริโภค
สอวช. นำตัวอย่างงานวิจัยที่ช่วยลดการเกิดขยะพลาสติก ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต มาฝากกัน โดยเป็นงานวิจัยเจ๋งๆ ของกรมวิชาการเกษตร ที่นำเจ้าหัวแครอทมาคิดค้นการผลิต “ฟิล์มแครอท” บรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มอาหาร ที่สามารถย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยฟิล์มจากแครอทที่พัฒนาขึ้นนี้มีความต้านทานการซึมผ่านก๊าซออกซิเจนอยู่ในระดับที่ดีจึงนำมาประยุกต์เป็นฟิล์มห่อผลิตภัณฑ์ เช่น ลูกอม และผลไม้กวน นอกจากนี้ ฟิล์มแครอทยังมีคุณค่าทางทางโภชนาการและช่วยต้านการเสื่อมคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากปฏิกิริยาออกซิเดชัน เนื่องจากฟิล์มแครอท 1 แผ่นมีปริมาณสารเบต้าแคโรทีนสูงถึง 3,465 ไมโครกรัม โดยฟิล์มแครอทนี้มีอายุการใช้งานได้นานประมาณ 2 เดือน
“ฟิล์มแครอท” จึงเป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยที่ที่ตอบโจทย์การช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตร เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่การใช้พลาสติก และนำไปสู่การลด เลิกใช้พลาสติกได้ในระยะยาว
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/39110
https://www.facebook.com/environman.th/posts/2766338453494584/
FB สอวช. : https://www.facebook.com/NXPOTHAILAND
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.