หากพูดถึงปัญหาความยากจน ต้องยอมรับว่า เป็นปัญหาที่แทรกซึมอยู่ในบริบทสังคมไทยมาเป็นเวลานาน การจะเข้าไปแก้ไขปัญหานี้ให้เกิดผลสำเร็จได้ในระยะยาวต้องอาศัยการเข้าถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ความครบถ้วนของข้อมูลเชิงลึก และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันอุดมศึกษา ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐทั้งในระดับพื้นที่ จังหวัด และกระทรวง รวมถึงการขับเคลื่อนเชิงนโยบายของภาครัฐ
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้เห็นความสำคัญในการนำงานวิจัย นวัตกรรมและองค์ความรู้ มาแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม
จึงได้จัดทำ “แผนงานการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” ขึ้นเพื่อสร้างแพลตฟอร์มการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ (Personalize poverty alleviation: PPA) มีเป้าหมายเพื่อสร้างฐานข้อมูล ระบบและกลไกการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนรวมถึงการใช้ความรู้และเทคโนโลยีจากงานวิจัยและนวัตกรรมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย
โดยได้ศึกษาและถอดโมเดลขจัดความยากจนมาจากประเทศจีนที่ทำเรื่องดังกล่าวสำเร็จมาแล้ว โดยพบว่ากุญแจแห่งการแก้ปัญหา คือ จะต้องสำรวจข้อมูลพื้นฐานอย่างละเอียด ลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษาปัญหา มีความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน
ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นระบบ และท้ายที่สุดจะสามารถแก้ปัญหาคนจนได้อย่างตรงจุด
โดย บพท. ได้ดำเนินตามแผนการวิจัย ผ่านการเริ่มปูพรมสำรวจก่อน 10 จังหวัดนำร่องในประเทศไทย ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ครัวเรือนต่ำสุด จากข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index: HAI) ปี 2562 บพท. ใช้ระยะเวลากว่า 8 เดือนในการลงพื้นที่สำรวจ วิเคราะห์สภาพปัญหาเชิงลึกของความยากจน
โดยอาศัยความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษา ภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน กลไกระดับพื้นที่ ในการค้นหาและสอบทานข้อมูลคนจน และทุนของคนจนในพื้นที่รายครัวเรือนและรายคน เพื่อนำมาวิเคราะห์ฐานทุนในการดำรงชีพในเชิงปริมาณทั้ง 5 มิติ ได้แก่
1. ทุนมนุษย์ ประเมินจาก ความรู้ ความชำนาญ ความสามารถ สุขภาพ อาชีพ ทักษะ
2. ทุนกายภาพ ประเมินจากโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง ที่อยู่อาศัยที่มั่นคง น้ำสะอาด พลังงาน การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ
3. ทุนการเงิน ประเมินจากรายได้ ทรัพย์สิน หนี้สิน เงินออม
4. ทุนธรรมชาติ ประเมินจากทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ที่ดินทำกิน น้ำ ป่า คุณภาพอากาศและภัยธรรมชาติ เป็นต้น
5. ทุนทางสังคม ประเมินจากการรวมกลุ่ม เครือข่ายและความสัมพันธ์ กฎเกณฑ์ กติกาของกลุ่ม
ฐานข้อมูลนี้จะทำให้สามารถประเมินผล จำแนกกำหนดเกณฑ์กลุ่มคนจนเป้าหมายได้ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย คือ
กลุ่มที่ 1 กลุ่มอยู่ไม่ได้ : อยู่ไม่ได้/ชรา/ไม่มีกิจกรรมเศรษฐกิจ/ไม่มีรายได้/อยู่ด้วยสวัสดิการของรัฐ
กลุ่มที่ 2 กลุ่มอยู่ลำบาก-ประคองตัว
กลุ่มที่ 3 กลุ่มอยู่พอได้/เปราะบาง-เสี่ยงต่อความจน
กลุ่มที่ 4 กลุ่มอยู่ดี
เมื่อเราเกิดความเข้าใจ โดยเอาปัญหาของพื้นที่เป็นตัวตั้งจะได้คำตอบว่า “คนจนคือใคร-อยู่ที่ไหน-จนเพราะอะไร-จะพ้นความจนได้อย่างไร” นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมทั้งในกลุ่มคนจน 20% ล่าง (คนจนยากไร้) และกลุ่มคนจน 20% บน (คนจนเข้าไม่ถึงโอกาส/คนจนหนี้สิน) สร้างให้เกิดการเชื่อมต่อกับระบบความช่วยเหลือของภาครัฐและเอกชน เช่น การส่งต่อข้อมูลของคนจนยากไร้ ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนไปยังหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระดับจังหวัด นำความรู้งานวิจัย ผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาต้นแบบปฏิบัติการแก้จนให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เบื้องต้นผลจากการค้นหาและสอบทานข้อมูลใน 10 จังหวัดนำร่องพบว่า
ครัวเรือนยากจนที่สำรวจทั้งหมด 92,656 ครัวเรือน
บันทึกเข้าสู่ระบบแล้ว 92,445 ครัวเรือน
จำนวนคนยากจนรวม 352,991 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มีนาคม 2564)
และในปี 2564 นี้ จะมีการขยายผลเพิ่มพื้นที่เป้าหมายอีก 10 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา รวมทั้งจะมีการเชื่อมโยงระบบส่งต่อความช่วยเหลือกับหน่วยงานที่ระดับพื้นที่ จังหวัด และกระทรวงให้สามารถช่วยเหลือหรือนำคนจนที่ตกหล่นจากการสำรวจและการได้รับสวัสดิการเข้าสู่ระบบให้ได้มากที่สุด และเกิดการขยายผลจากการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย จากการต่อยอดโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนได้อย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ข้อมูล : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.