มิราเคิลฟรุต ☘️
วิธีการปลูกต้นมิราเคิล นำผลแก่สุกเต็มที่สีแดงคล้ำมาผึ่งแดด 1-2 วัน ให้แห้ง (ไม่ควรเก็บเมล็ดไว้เกิน 10 วัน) แกะเปลือกหุ้มเมล็ดออก นำไปวางบนดินที่มีอินทรียวัตถุสูง มีลักษณะร่วนโปร่ง เช่น ดินขุยไผ่ หรือดินผสมจากใบก้ามปูร่วมกับเปลือกมะพร้าวที่สับเป็นชิ้นในอัตรา 2 : 1 เพื่อให้กาบมะพร้าวสามารถดูดซึมน้ำให้มีความชุ่มชื้นเมื่อวางเมล็ดที่แกะแล้วลงในถุง ใช้นิ้วกดลงไปเบาๆ หากกลบดินมิดเมล็ดจะไม่งอก หรือใช้วิธีตอน การปลูกในระยะแรกจำเป็นต้องมีการพรางแสงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และควรรดน้ำทุกวันเมื่อออกผลควรทำมุ้งครอบป้องกันแมลงวันทองมาเจาะทำลาย
กลไกของ Miracle fruit ความมหัศจรรย์ในการเปลี่ยนรสเปรี้ยวให้เป็นรสหวานของผลมิราเคิล ทำให้มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับสารสำคัญและคุณสมบัติของผลมิราเคิล จนในปี พ.ศ. 2511 ทั่วโลกจึงได้รู้ว่าสารที่ทำให้เกิดความหัศจรรย์นี้ก็คือ มิราคูลิน (Miraculin ; MCL) จากการศึกษาของ J.N. Brouwer พบว่า สารมิราคูมินเป็นไกลโคโปรตีนที่ประกอบไปด้วยกรดอะมิโน 191 ตัวและน้ำตาล โดยมีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบ 13.9% ไม่มีสีและไม่มีรสชาติ มีการตั้งทฤษฎีกลไกการทำงานของสารนี้ว่า เมื่อเรากินลูกมหัศจรรย์สีแดงสดเข้าไป สารมิราคูลินจะจับกับตัวรับรสหวานในตุ่มรับรส (taste bud) และเปลี่ยนโครงสร้างของตัวรับ ทำให้ตัวรับรสหวานตอบสนองกับทั้งรสหวานและรสเปรี้ยว และเมื่อกินอาหารที่มีรสเปรี้ยวตามไป ตัวรับรสหวานก็ทำงานและส่งกระแสประสาทไปยังสมองบอกว่าอาหารนั้นมีรสหวานนั่นเอง
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 ทีมนักวิจัยชาวญี่ปุ่นและฝรั่งเศสได้ตีพิมพ์ความสำเร็จในการไขกลไกการทำงานของสารมิราคูลินลงในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) ว่า ได้ทำการศึกษาการทำงานของสารมิราคูลินในตัวรับรสหวานทั้งของคนและหนูที่ดัดแปลง(มาจากเซลล์ไตของมนุษย์)เพื่อให้ทราบว่าบริเวณพื้นที่ใดของตัวรับรสหวานที่สารนี้ไปเกาะพบว่า สารมิราคูลินจะไปเกาะกับตัวรับรสหวาน (ชื่อว่า hT1R2-hT1R3) อย่างเหนียวแน่น ในสภาวะที่เป็นกลาง (ไม่เป็นกรดหรือด่าง) ซึ่งมิราคูลินจะมีโครงสร้างที่ไปยับยั้งการทำงานของตัวรับรสหวาน ทำให้เรารับรู้ว่ามิราคูลินไม่มีรสชาตินั่นเอง แต่ถ้ามีสารให้ความหวานอื่น (sweeteners) เกาะร่วมอยู่ด้วย มิราคูลินจะไปลดการทำงานของตัวรับรสหวานลง ทำให้เรารับรู้ถึงความหวานของสารให้ความหวานอื่นลดลง และเมื่ออยู่ในสภาวะเป็นกรด มิราคูลินจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกระตุ้นการทำงานของตัวรับรสหวานให้มากขึ้น ทำให้เราได้รับรู้รสหวานเมื่อกินอาหารที่มีรสเปรี้ยวตามไป (ยิ่งของกินมีรสเปรี้ยวมากเท่าใด เราก็จะรับรู้รสหวานมากขึ้นเท่านั้น) และยิ่งมีสารให้ความหวานอื่นรวมอยู่ด้วย จะทำให้เรารับรู้ความหวานของสารให้ความหวานอื่นมากกว่าปกติ และเมื่อกลืนของเปรี้ยวไปแล้ว สารนี้จะกลับสู่ร่างเดิมและเกาะติดแนบแน่นกับตัวรับนานประมาณ 1 ชั่วโมง
จากคุณประโยชน์ของ Miracle fruit ดังกล่าว หากได้รับความนิยมและมีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง จะช่วยสร้างพืชเศรษฐกิจใหม่ที่น่าสนใจให้กับวงการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา จะมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ตอบโจทย์ผู้บริโภคต่อไป
แหล่งที่มาข้อมูล :
https://www.naewna.com/sport/571562
https://www.technologychaoban.com/ (เทคโนโลยีชาวบ้าน ผู้เขียน ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561)
http://www.siamensis.org/article/34652 (Thailand Nature Explorer กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมผู้เขียน นพปฎล มากบุญ 12 พฤศจิกายน 2554)http://oknation.nationtv.tv/.../suntaw.../2013/01/03/entry-1
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.