ฝุ่นในชีวิตประจําวัน โดยทั่วไปแล้วฝุ่นละอองในอากาศมีขนาดตั้งแต่ 100 ไมครอนลงมา ซึ่งเป็นฝุ่นที่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ทั้งในรูปแบบที่เรามองเห็นและมองแทบไม่เห็นอย่างฝุ่นละอองหรือฝุ่นที่มองเห็นเป็นสีดําอย่างเขม่า หมอกควัน ซึ่งฝุ่นเหล่านี้ยังแยกย่อยออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
1. ฝุ่นละอองรวม (Total Suspeded Particulate : TSP) มีอนุภาคขนาดเล็ก เกิดขึ้นตามภายในและนอกอาคารโดยฝุ่นชนิดนี้ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น น้ำมัน เตา ถ่านหิน ฟืน แกลบ จะมีสารพิษที่เป็นอินทรียสารและอนินทรียสารเป็นส่วนประกอบ
2. ฝุ่นหยาบ (Particutate Matter : PM10) มีอนุภาคขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เช่น ฝุ่นที่เกิดจากถนนที่ไม่ได้ลาดยาง หรือ โรงงานบดหิน เป็นต้น
3. ฝุ่นละเอียด (Particulate Matter : PM2.5) มีอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกิดจากควันเสียของรถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม
โดยฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจไปจนถึงถุงลมในปอดแล้วทำให้เกิดการอักเสบ ระคายเคือง และก่อโรคระบบทางเดินหายใจได้
ภัยร้ายจากฝุ่นเล็กในหมอกควัน
หมอกควันที่เราเห็นในสภาพแวดล้อม คือการรวมกันของเม็ดฝุ่นขนาดเล็กและควันต่างๆ ซึ่งจะยิ่งเห็นหมอกควันชัดเมื่ออยู่ในสภาพอากาศแห้งอย่างช่วงปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน ดังที่ยังคงเป็นปัญหาของจังหวัดทางภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ที่มีพื้นที่เป็นแอ่ง กักเก็บหมอกควัน
หมอกควันพิษมาจากไหน
1. เกิดจากธรรมชาติ เช่น ไฟป่า เป็นต้น
2. เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ได้แก่ การเผาเศษพืช และเศษวัสดุการเกษตร การเผาขยะมูลฝอย จากชุมชน การเผาวัชพืชริมถนน และมลพิษ จากอุตสาหกรรม
ปัญหามลภาวะอากาศในปัจจุบันเกิดจากมนุษย์ละเลยที่จะใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และยิ่งเม็ดฝุ่นในหมอกควันมีขนาดเล็กเท่าไรก็ยิ่งอันตราย เม็ดฝุ่นในหมอกควันที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (ขนาด เล็กกว่า 1,000 เท่าของขนาดเม็ดน้ำตาลทราย) และมีค่าความเข้มข้นสูงเกิน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
นอกจากนี้เม็ดฝุ่นยังปะปนไปด้วยแก๊สพิษและสารไฮโดรคาร์บอนบางชนิดที่เป็นภัยต่อสุขภาพ และหากหายใจเอาหมอกควันพิษเข้าไปนานวันเข้าอาจเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดได้ในที่สุด
วิธีสังเกตระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองในหมอกควัน
- หากอยู่บนถนน สามารถมองเห็นรถยนต์ข้างหน้าได้ไกลไม่เกิน 100 เมตร
- มองเห็นเสาไฟได้ไม่เกิน 3-4 ต้น
- มองออกไปไม่เห็นยอดภูเขา เป็นต้น
อาการแพ้ฝุ่นหมอกควัน
- ปวดศรีษะ คลื่นไส้และอาเจียน
- ระคายเคืองหรือแสบตา
- ภูมิแพ้หรือแสบจมูก
- หายใจไม่สะดวกโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคหอบหืด คนแก่หรือเด็กที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเสี่ยงที่จะมีอาการทรุด
- ระคายเคืองผิวหนัง
- อึดอัด แน่นหน้าอก
หากสะสมนานวันเข้าก็สามารถส่งผลรุนแรงขึ้นจนเกิดเป็นโรคร้ายแรง อาทิ โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดแข็งจากภาวะฝุ่นจับปอด (Pneumoconiosis) และฝุ่นละอองอาจซึมเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองหรือเลือด ซึ่งมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือมะเร็งปวดได้
อาชีพที่เสียงรับสารก่อมะเร็ง
ตํารวจจราจร แม่ค้าข้างถนน และ เด็กนักเรียน นักเรียนในกรุงเทพมหานครได้รับสาร Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs) และ Benzene มากกว่านักเรียนในชนบทถึง 6 และ 2 เท่า ตามลําดับ
วิธีเอาตัวรอดจากฝุ่นหมอกควัน
หากคุณจำเป็นต้องอยู่ในละแวกที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
1. ปิดประตูหน้าต่างไม่ให้ฝุ่นเข้ามาในตัวอาคาร
2. ดื่มน้ำมากๆ
3. ใช้น้ำเกลือหรือน้ำสะอาดกลั้วคอ บ้วนทิ้งวันละ 3-4 ครั้ง ห้ามกลืน
4. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ต้องออกแรงมากๆ โดยเฉพาะการออกกำลังกายในที่แจ้ง
5. หากต้องการออกจากบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยชนิดกรอง 3 ชั้น ซึ่งจะช่วยป้องกันฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอนได้ และหมั่นเปลี่ยนกน้ากากอนามัยทุกวัน หรือใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก
6. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคปอด ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นติดตัว
7. งดสูบบุหรี่
8. ปลูกต้นไม้สูงรอบบ้านสามารถช่วยกรองอากาศและผลิตออกซิเจน
9. หากมีอาการผิดปกติหลังสูดดมฝุ่นหมอกควัน เช่น หายใจไม่ออกหรือระคายเคืองแสบตา ควรรีบไปพบแพทย์
วิธีลดฝุ่นหมอกควัน งดก่อมลภาวะในอากาศ
ปัญหาฝุ่นละอองหรือหมอกควันพิษไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะสาเหตุหลักเกิดขึ้นจากการกระทําของมนุษย์ ฉะนั้นหากมนุษย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะช่วยลดปัญหามลพิษอากาศได้ เช่น
รถยนต์
• ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วสําหรับรถเครื่องยนต์เบนซินหรือน้ำมันดีเซลกลั่นอุณหภูมิต่ำสําหรับรถเครื่องยนต์ดีเซล
• เปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามกําหนดเวลา
• ติดตั้งอุปกรณ์กรองไอเสีย
• เปลี่ยนมาใช้ระบบการขนส่งที่มีมลพิษน้อยและหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน เพื่อลดการแพร่ควันท่อไอเสียรถยนต์
• ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ รถยนต์ Hybrid
เศษพืชและวัสดุ การเกษตร
• ลดการเผา แต่ควรนําไปทําปุ๋ยหมักชีวภาพ นอกจากพืชผักปลอดภัย ดินก็จะไม่ถูกทําลาย
Tip: ฟางข้าวมีประโยชน์ใช้เพาะเห็ดได้
• ปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชจากพืชเชิงเดี่ยวไปสู่ระบบการปลูกสร้างสวนป่าแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นรูปแบบการเกษตรสําคัญที่สามารถลดการเผาไปได้จํานวนมาก
สร้างพื้นที่สีเขียว
• ปลูกต้นไม้รอบบ้านเพื่อช่วยกรองฝุ่นและดูดมลพิษ
• เลิกสูบบุหรี่
• หมั่นทําความสะอาดพื้นที่อยู่อาศัย
ขยะหรือวัสดุเหลือใช้
• ลดการเผาทําลาย เปลี่ยนเป็นรวบรวมวัสดุเหลือใช้ไปขายเพื่อสร้างรายได้
• ลดและเลิกการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีสารประกอบของสารที่ทําให้เกิดภาวะเรือนกระจก เช่น สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) และสารไฮโดรฟลูโอคาร์บอน (HCFC)
ที่มา : เพจ ScienceDoctorD ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.