ไขความลับ อัลฟา บีตา แกมมา นิวตรอน ว่ารังสีแต่ละรูปแบบแตกต่างกันอย่างไร
หลายคนคงเคยได้ยินกับรังสีที่มีชื่อว่ารังสีอัลฟา รังสีบีตา หรือรังสีแกมมากันมาบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่ารังสีแต่ละอย่างนั้นแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะพาไปดูกันว่า 3 รังสีเหล่านั้นคืออะไร แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
แต่ก่อนที่เราจะไปพูดถึงความแตกต่างของรังสีทั้ง 3 รูปแบบ เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับรังสีกันก่อน โดยรังสีคือพลังงานที่แผ่ออกมาจากแหล่งหนึ่งซึ่งสามารถทะลุผ่านสิ่งกีดขวางต่างๆ ได้ ซึ่งรังสีอัลฟา บีตา และแกมมานั้น จะอยู่ในหมวดรังสีก่อประจุ เป็นรังสีที่เกิดจากอะตอมหรือธาตุที่ไม่เสถียร หรือที่เรียกว่าธาตุกัมมันตรังสีนั่นเอง
โดยรังสีอัลฟานั้น เป็นกระแสของอนุภาคแอลฟาที่มีประจุบวก ประกอบด้วยโปรตอน 2 อนุภาค และ นิวตรอน 2 อนุภาค มีความสามารถในการทะลุทะลวงต่ำไม่สามารถทะลุผ่านผิวหนังได้ เพียงแค่แผ่นกระดาษแข็งก็สามารถป้องกันรังสีชนิดนี้ได้ ซึ่งอนุภาคอัลฟานั้น ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของสายล่อฟ้า และใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ เป็นต้น
รังสีบีตา เป็นอนุภาคอิเล็กตรอนที่เกิดจากการสลายกัมมันตรังสีของธาตุกัมมันตรังสี มีความสามารถในการทะลุทะลวงปานกลาง สามารถทะลุผิวหนังมนุษย์ได้ถึงชั้นที่ผลิตเซลล์ใหม่ ป้องกันได้ด้วยวัสดุที่มีเลขมวลต่ำเช่นแผ่นพลาสติกหนา เช่นธาตุ สตรอนเทียม-90 และคาร์บอน-14 ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการทำสารเรืองแสง/สารสะท้อนแสง และยารังสีสำหรับรักษาโรคต่างๆ
รังสีแกมมา เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดคลื่นสั้น เกิดจากการสลายของนิวเคลียสที่ ไม่เสถียร หรือจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ มีความสามารถในการทะลุทะลวงสูง ป้องกันได้ด้วยวัสดุที่มีเลขมวลสูงเช่น แผ่นเหล็ก จึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการใช้ฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง รวมถึงการฉายรังสีเพื่อฆ่าเชื้อโรคในอาหารและผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ
รังสีนิวตรอน เป็นอนุภาคไม่มีประจุและไม่มีการแตกตัว แต่สามารถเข้าไปทำปฏิกิริยากับอะตอมของวัตถุ จนเกิดเป็นรังสีอัลฟา บีตา และแกมม่า ออกมาได้ ซึ่งทางสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) มีการให้บริการฉายรังสีนิวตรอนในอัญมณีเพื่อให้อัญมณีเปลี่ยนเป็นสีสันที่สวยงามขึ้นได้อีกด้วย
ซึ่ง 4 รังสีนี้ เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของรังสีทั้งหมดเท่านั้น เพราะด้วยการคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามีรังสีที่มีชื่อเป็นตัวอักษรอื่นๆ อีกมากมาย และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีกเรื่อยๆ ในอนาคต
ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนิวเคลียร์เพิ่มเติม คลิก www.tint.or.th
ที่มา : สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(สทน.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.