TINT Open House เปิดบ้าน สทน. มีอะไร
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่ใช้บริการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์แก่องค์กรต่างๆ และแก่ประชาชนมาอย่างยาวนาน โดยมีสถานปฏิบัติการนิวเคลียร์หลักๆ อยู่ 3 แห่งด้วยกัน เพื่อรองรับความต้องการการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างครอบคลุม
สถานปฏิบัติแห่งแรกตั้งอยู่ที่จังหวัด กรุงเทพมหานคร โดยจะเป็นส่วนปฏิบัติการด้วย “เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย” เป็นแหล่งกําเนิดนิวตรอนขนาดใหญ่มีส่วนประกอบหลักคือแกนเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู ระบบระบายความร้อน เครื่องกําบังรังสีและระบบวัดและควบคุมโดยเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยหรือเครื่องปปว-1/1 นำนิวตรอนมาใช้ประโยชน์ในหลายๆด้านเช่น ด้านการแพทย์, อุตสาหกรรมการเกษตร รวมถึงการศึกษาวิจัยต่างๆ และ “ศูนย์ไอโซโทปรังสี” ที่มีภารกิจหลักในการผลิตสารไอโซโทปรังสี (Radioisotopes) สารประกอบติดฉลากรังสี (Labeled Compounds) และสารเภสัชสำเร็จรูปของเทคนีเชียม-99เอ็มหรือแกลเลียม-68 (Radiopharmaceutical kits) เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางการแพทย์ ทางการเกษตร การศึกษาวิจัย เป็นต้น
สถานปฏิบัติแห่งที่สองตั้งอยู่ที่จังหวัด ปทุมธานี โดยภายในจะเป็นศูนย์ฉายรังสีแก่อาหารและผลิตผลทางการเกษตรต่างๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรคในผลผลิตและคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไว้ พร้อมทั้งยังยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิต และชะลอการสุกได้อีกด้วย
สถานปฏิบัติแห่งที่สามตั้งอยู่ที่จังหวัด นครนายก โดยภายในจะเป็นห้องปฏิบัติการสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาต่างๆ ได้แก่ “ห้องปฏิบัติการไอโซโทปไฮโดรโลยี” เป็นห้องปฏิบัติการที่นำเอานิวเคลียร์มาใช้ในการหาอายุของวัตถุโบราณ และใช้ในงานด้านธรณีวิทยาต่างๆ “เครื่องฉายรังสีแกมมา” เป็นเครื่องฉายรังสีแกมมาใช้ต้นกําเนิดรังสีโคบอลต์-60 จํานวนทั้งหมด 6 แท่งซึ่งแต่ละแท่งมีความแรงประมาณ 12,000 คูรี ให้บริการฉายรังสีเพื่อปรับปรุงวัสดุ ไปจนถึงการฆ่าเชื้อในผลผลิตทางการเกษตร และการทำหมันแมลงเพื่อลดจำนวนแมลงลง
“เครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนบีมพลังงานสูง (Electron Beam)” เป็นเครื่องเร่งอนุภาพอิเล็กตรอนพลังงานสูงที่สามารถปรับเปลี่ยนพลังงานได้ในช่วง 8 MeV-21.5 MeV ที่ กําลังงานสูงสุดที่ 10 kW สามารถปรับเปลี่ยนรังสีได้ตามความต้องการของลูกค้าหรือนักวิจัยซึ่งได้จากการปรับความเร็วของสายพานตัวเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนบีม เพื่อใช้ในการฉายรังสีอัญมณีเพื่อเปลี่ยนสีหรือใช้ในการปรับปรุงวัสดุอื่นๆรวมทั้งสําหรับงานบริการหรืองานวิจัย
ศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี ที่จะนำขยะกัมมันตรังสีที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการทำประโยชน์ต่างๆ มาคัดแยก เก็บรักษา และทำลายทิ้งโดยไม่ให้ส่งผลกระทบสู่สิ่งแวดล้อม
ศูนย์ไซโคลตรอน เป็นเครื่องเร่งอนุภาคเพื่อวิจัยไอโซโทปรังสีสำหรับเครื่อง PET (Positron Emission Tomography) และ SPECT (Single Photon Emission Computed Tomography) เพื่อใช้งานในการผลิตเภสัชรังสีให้รองรับกับความต้องการเภสัชรังสีของคนไทยให้มากยิ่งขึ้น
อาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมค เป็นเครื่องปฏิบัติการที่ดำเนินการวิจัยด้านพลาสมาและฟิวชั่น เพื่อนำผลวิจัยพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่น ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสีมาใช้งานในการฆ่าเชื้อในอาหาร และประยุกต์เทคโนโลยีพลาสมานั้นมาใช้งานด้านการแพทย์ ในการกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ รวมถึงการรักษาบาดแผลอีกด้วย
และในอนาคตสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จะพัฒนาห้องปฏิบัติการและจัดสร้างห้องปฏิบัติการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับทุกการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ของคนไทยให้ได้มากที่สุด
ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพิ่มเติม คลิก www.tint.or.th
ที่มา : สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์เเห่งชาติ (สทน.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.