เลือกทำงานที่ชอบ หรืองานที่ใช่ ให้ตอบตอนนี้ก็คงจะยาก แต่ถ้าอยากอัพสกิล ได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ คุณอาจตอบได้มั่นใจขึ้น
สอวช. ขอพาทัวร์! ส่องทักษะแห่งอนาคต (Future skills) ที่คุณต้องกดปุ่มอัพเดตระบบปฏิบัติการตัวเองแบบเร่งด่วน เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (Disruption) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ส่งผลให้โครงสร้างอุตสาหกรรม และรูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ
สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ
- การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ทดแทนเทคโนโลยีเดิม
- การปรับวิธีการทำงานเป็นแบบทางไกล หรือ Work from home
- การเติบโตของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซ (E-commerce)
จากผลกระทบความการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม ทำให้ World Economic Forum (WEF) ประมาณการว่าภายในปี ค.ศ. 2025 จะมีงานประมาณ 85 ล้านตำแหน่ง ที่ถูกทดแทน แต่ขณะเดียวกันก็จะมีงานใหม่เพิ่มขึ้นถึง 97 ล้านตำแหน่ง โดยตำแหน่งอาชีพแห่งอนาคตนั้นจะเป็นการผสมระหว่างทักษะดิจิทัล และการวิเคราะห์ของมนุษย์ ซึ่งส่วนนี้เทคโนโลยียังไม่สามารถทดแทนกันได้
สอวช. ได้ทำการสำรวจข้อมูลตำแหน่งงาน และสมรรถนะงานที่สำคัญ ที่เป็นที่ต้องการสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2563 - 2567) โดยมุ่งเน้นตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะสูง และตำแหน่งงานรูปแบบใหม่ โดยคำนึงถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรทักษะสูงใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายรวม 177,554 คน โดยสามารถอ่านรายละเอียดตำแหน่งงานและสมรรถนะตามความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ https://www.nxpo.or.th/th/report/5532/
กำลังคนในระบบอุตสาหกรรมต้องการคนทักษะสูงเพิ่ม แล้ว “กำลังคนนอกระบบ” ต้องปรับตัว หรือมีทักษะเพิ่มอย่างไร
กำลังคนในระบบเศรษฐกิจแบบงานครั้งคราว (Gig Economy)
ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลได้ก่อให้เกิดเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) ที่มีลักษณะการทำงานแบบรับงานเป็นครั้งคราวหรือ Gig Economy ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการจ้างงานผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา และหลากหลาย ไปจนถึงการจ้างงานแบบแรงงานอิสระ (Freelance) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้แรงงานกลุ่มนี้เผชิญความท้าทายในการพัฒนาทักษะเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เพราะนอกจากทักษะเฉพาะด้านในแต่ละอาชีพที่ต้องมีแล้ว Gig worker ยังจำเป็นต้องมีทักษะอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมถึงต้องมีความกระตือรือร้น และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีด้วย
ทักษะที่สำคัญ สำหรับ Gig worker
- ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารในแพลตฟอร์มออนไลน์
- ทักษะเชิงเทคนิคด้านอื่น ๆ เช่น การใช้ภาษาอังกฤษ การตลาด และการจัดการระบบ รวมถึงความเข้าใจพื้นฐานด้านการเงิน
- ทักษะด้านสังคม เช่น การสร้างเครือข่ายธุรกิจ การเสาะหางาน และทักษะด้านธุรกิจ
กำลังคนรองรับเศรษฐกิจฐานราก
เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของชุมชน การพัฒนากำลังคนรองรับเศรษฐกิจฐานรากจึงมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่สอดคล้องและจำเป็นต่อการยกระดับสู่การเป็นผู้ประกอบการให้กับเกษตรกร แรงงานทั่วไปและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและไม่มั่นคง เพื่อสร้างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยมีความรู้และทักษะที่สำคัญ เช่น
- ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
- ทักษะการผลิต และเพิ่มมูลค่าสินค้า เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน
- ทักษะด้านบัญชีและการเงิน เพื่อบริหารจัดการต้นทุน มีความรู้และวินัยทางการเงิน เพื่อการบริหารจัดการหนี้สินและการออมเพื่อเป็นทุนและหลักประกันในการลงทุนได้ต่อไป
- ทักษะการตลาด ทั้งการตลาดออนไลน์ และช่องทางการตลาดอื่นๆ
- ทักษะการบริหารจัดการ การบริหารความเสี่ยง และการบริหารจัดการในกระบวนการผลิต
เมื่อโลกเปลี่ยน คนต้องปรับ รองรับให้เท่าทัน สอวช. ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคน ผ่านการสร้างสรรค์นโยบาย กลไก และมาตรการในการส่งเสริมให้เกิดทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เพื่อให้ไทยมีฐานกำลังคนสมรรถนะสูงที่เพียงพอรองรับการพัฒนาในอนาคต
ที่มา : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.