ลูทีนและซีแซนทีน : อาหารของดวงตา
ลูทีน (lutein) และซีแซนทีน (zeaxanthin) คือ รงควัตถุหรือ สารสีในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoid) พบมากในผักใบเขียว ดาวเรือง ไข่แดง กีวี องุ่น ซูกินี และข้าวโพด เป็นต้น
ลูทีนและซีแซนทีนเป็นไอโซเมอร์ (isomer) กัน โครงสร้างแตกต่างกันที่ตำแหน่งพันธะคู่ตำแหน่งหนึ่งที่วงแหวนด้านปลาย ลูทีนและซีแซนทีน เป็นองค์ประกอบสำคัญในส่วนของจุดรับภาพของจอประสาทตา ซึ่งเม็ดสีนี้มีหน้าที่ป้องกันดวงตาจากแสงแดดหรือคลื่นแสงพลังงานสูงอย่างรังสีอัลตราไวโอเลตและกรองแสงสีฟ้าซึ่งเป็นอันตรายต่อจอประสาทตา และเป็นแสงที่หลีกเลี่ยงได้ยากเพราะมีอยู่ทั่วไปรอบๆ ตัวเรา เช่น แสงจากโทรทัศน์ แสงจากจอคอมพิวเตอร์ แสงจากหลอดไฟ เป็นต้น ด้วยการสะสมของลูทีนและซีแซนทีนในจอประสาทตานั้นทำให้การบริโภคแคโรทีนอยด์สามารถลด ป้องกัน หรือชะลอการเกิดโรคตาบางชนิด เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อมได้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุ
โดยงานวิจัยของสหรัฐอเมริกามีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น
นักวิจัยหลายคนจึงเชื่อว่าลูทีนและซีแซนทีนเป็นสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างการมองเห็นและบำรุงสุขภาพดวงตา โดยเฉพาะแก้วตาและจอประสาทตา ซึ่งร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างสารประกอบทั้งสองนี้ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร สามารถพบได้ในผลไม้และผักต่างๆ
แหล่งอาหารที่ให้ลูทีนที่ดีที่สุด คือ ผักใบเขียว ตัวอย่างเช่น ผักปวยเล้งจะมีลูทีน 6.5-13.0 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักผักสด 100 กรัม ผักคะน้าจะมีลูทีนในปริมาณ 4.8-13.4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักผักสด 100 กรัมผักกาดแก้ว (ดิบ) มีลูทีน 2.6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักผักสด 100 กรัม และบรอกโคลี (สุก) มีลูทีนและซีแซนทีน 2.2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักผักสด 100 กรัม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบลูทีนและซีแซนทีนมากในดอกดาวเรือง ซึ่งนิยมนำมาสกัดเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงสายตาอีกด้วย ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รวมเอาสารลูทีน ซีแซนทีน และสารอาหารที่จำเป็นต่อดวงตาอยู่มากมาย และหลายคนเลือกที่จะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นทางเลือกในการดูแลดวงตา แต่การเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นต้องเลือกที่มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ และปฏิบัติตามคำสั่งบนฉลากผลิตภัณฑ์ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ก่อนรับประทาน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์และได้ประสิทธิภาพจากการรับประทานอย่างสูงสุด
เอกสารอ้างอิง
Bone, R.A., Tandrum, J.T., Guerra, L.H. and Ruia, C.A., 2003. Lutein and zeaxanthin dietary supplements raise macular pigment density and serum concentrations of these carotenoids in humans. Journal of Nutrition, 133(4), pp. 992-8. Eisenhaure, B., Natoli, S., Liew, G. and Flood, V.M., 2017. Lutein and zeaxanthin-food sources, bioavailability and dietary variety in Age-relates macular degeneration protection. Nutrients, 9, pp. 1-14. Haegerstrom, P.G., 1988. Short-wavelength-sensitive-cone sensitivity loss with aging: a protective role of macular pigment. J Opt Soc Am, 5(12), pp. 2140-4. Wang, L., Lu, w., Li, J., Hu, J., Ding, R., Lv, M. and Wang, Q., 2019. Optimization of ultrasonic-assisted extraction and purification of zeaxanthin and lutein in corn gluten meal. Molucules, 24(16), pp. 1-12. กรองกาญจน์ กิ่งแก้ว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.