อว. พาไปดู 6 จุดเด่น ระบบการเรียนการสอนของหลักสูตร AI จาก “สถาบัน AI” การร่วมมือของ 6 ม.ดัง ผลิตกำลังคน พัฒนาประเทศ
6 มหาวิทยาลัยดัง จับมือเอกชนผลิตกำลังคน สร้างโอกาสไทยแข่งขันเวทีโลก เปิดหลักสูตร Sandbox ด้าน AI เดือน ส.ค.นี้ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยร่วมมือกันจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ และยังร่วมกันลงนามความร่วมมือร่วมกับภาคเอกชนอย่าง กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด บริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัด เเละ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป อีกด้วย
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เผยว่า อว. มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาและเสริมสร้างนวัตกรรมในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะการทำงานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ เพราะในปัจจุบันอุตสาหกรรมต่างๆ นำ AI มาใช้อย่างแพร่หลาย ดังนั้นจึงได้มีการจัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ โดยจะมีนโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานอุดมศึกษาทั่วไป (Higher Education Sandbox) คือ มีการสร้างรูปแบบและวิธีการจัดหลักสูตร รวมทั้งผู้สอน สถานที่ ฯลฯ แตกต่างจากหลักสูตรปกติทั่วไป
โดย รศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ได้ให้ข้อมูลระบบการเรียนการสอน ที่เป็นจุดเด่นหรือเป็นที่น่าสนใจของสถาบัน AI นี้ ไว้ดังนี้
1. หลักสูตรจะแตกต่างจากหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่เดิม เพราะจะเน้นสมรรถนะผู้เรียนว่าเรียนจบแล้วจะต้องทำอะไรได้บ้าง ไม่เหมือนการเรียนแบบเดิมที่ออกแบบว่าหนึ่งวิชาจะต้องเรียนกี่ชั่วโมง แต่รูปแบบนี้จะแตกเป็นโมดูลหรือคอร์สหรือรูปแบบอื่นๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น
2. เมื่อนักศึกษาได้เข้ามาแล้วจะมีการทดลองแก้ปัญหาจากโจทย์จริง โดยทุกคนจะได้ความรู้พื้นฐาน ก่อนจะเลือกเส้นทางของตัวเองได้ว่าอยากเน้นไปทางด้านใดเพราะแต่ละคนอาจมีจุดอ่อนหรือจุดแข็งที่แตกต่างกัน
3. สามารถสมัครเข้าศึกษาผ่านมหาวิทยาลัยใดก็ได้ที่อยู่ในความร่วมมือของสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ เพราะทุกมหาวิทยาลัยจะปรับปรุงหลักสูตรหรือสร้างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ให้มีความสอดคล้องกัน
4. สามารถลงเรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้ในวิชาที่สนใจได้ หรือ ปีถัดไปย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยอื่นได้ โดยมีสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงหลักสูตร
5. สามารถใช้หน่วยกิตที่ลงเรียนข้ามสถาบันมาเป็นหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ได้เช่นกัน
6. มีการส่งเสริมการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ดังนั้นหลักสูตรนี้สามารถทำงานร่วมกับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยได้ เป็นการส่งเสริมประสบการณ์ทางวิชาการและสังคมแก่นักศึกษาเพราะเหมือนได้ทดลองทำงานจริงที่ได้เจอกับคนหลากหลาย
ถือว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยในการแข่งขันในเวทีโลก เพื่อลดช่องว่างในการแข่งขันระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้ว การพัฒนางานวิจัยและกำลังคนรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการวางเป็นรากฐานเพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทย สอดรับกับเป้าหมายสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.