อว. พาไปดู 6 นวัตกรรมสำหรับสังคมสูงวัยที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของ "คนวัยเก๋า" พัฒนาโดย NIA
จำนวนประชากรของประเทศไทยในปัจจุบัน ณ ตอนนี้จะมีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยนจากปี 2562 ถือว่าเป็นปีที่มีจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 11.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งในปี พ.ศ. 2565 นี้ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (สัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 20) และในปี พ.ศ. 2576 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดซึ่งสังคมผู้สูงอายุนี้กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากวัยทำงานลดลง หรือการที่ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขและบริการสังคมแก่ผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว การผลักดันให้ประชากรสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีจึงเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย
.
NIA จึงได้พัฒนาและสนับสนุนนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุใน 6 ด้าน เพื่อช่วยรับมือกับสังคมผู้สูงอายุของไทย ลองมาดูกันว่ามีนวัตกรรมด้านใดบ้าง
.
1.นวัตกรรมด้านการเงินและการจ้างงาน (Financial freedom and stability) ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุยังคงเข้าถึงโอกาสทางอาชีพและมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้น เกิดการใช้จ่ายอย่างมั่นคง รวมถึงการเข้าถึงสิทธิทางการเงินของผู้สูงอายุ เช่น โครงการ "ขิง" แอปพลิเคชัน (สร้าง-จ้าง) งานวัยเก๋า
2.นวัตกรรมด้านสุขภาพกาย (Health) คือสิ่งจำเป็นสูงสุดในการมีชีวิตยืนยาว เน้นการใช้ชีวิตแบบ “สูงวัยที่บ้าน” โดยการมีส่วนร่วมของครอบครัว การหมั่นดูแลผู้สูงอายุ รักษาเมื่อยามเจ็บไข้ และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เช่น โครงการ Life Guard V: ผ้าอ้อมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ของบริษัท เพ็ทสไมล์ บาย ด๊อกเตอร์ เพ็ท จำกัด ที่สามารถตรวจความเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ เพื่อดูแนวโน้มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค และสามารถย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ หรือ โครงการรักษาทางไกลเพื่อผู้สูงอายุ ของบริษัท ออนไลน์ด๊อค จำกัด ซึ่งเป็นบริการทางการแพทย์ทางไกลราคาถูก โดยสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพออนไลน์กับแพทย์หลากหลายสาขาได้ทุกที่ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง และบริการจัดส่งยาถึงบ้าน
3.นวัตกรรมด้านสุขภาพทางปัญญา (Cognitive Health) เป็นเครื่องมือหรือบริการใหม่ที่จะเข้ามาช่วยบริหารระบบความจำให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ เพื่อลดความเสี่ยงในความบกพร่องทางสติปัญญา การแยกตัวทางสังคม และผลลบด้านสุขภาพอื่น ๆ
4.นวัตกรรมด้านสังคมสูงวัย (Social & Connectivity) เพื่อช่วยลดความโดดเดี่ยวทางสังคม ให้ได้สัมผัสกับ "วิถีแห่งความสุข" สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่ เพราะความเหงา ความซึมเศร้า และความวิตกกังวล สามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพ เช่น โครงการวัยเก๋าเตือนภัย ของบริษัท ทูลมอโร จำกัด ที่ให้ความรู้ด้านอาชญากรรมออนไลน์แก่ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้สูงอายุร่วมกันให้ข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเองผ่านระบบ เกิดการสร้างเป็นสังคมที่ช่วยระวังภัยให้กันและกัน
5.นวัตกรรมด้านการเคลื่อนไหวและการใช้ชีวิตประจำวัน (Mobility & Transportation) เนื่องจากการเดินทางและการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่ลำบากสำหรับผู้สูงอายุ นวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ดี หรือสะดวกในการเดินทาง นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชีวิต เพิ่มความมั่นใจ และความเป็นอิสระของผู้สูงอายุ เช่น โครงการ Go Mamma: แอปพลิเคชันบริการรถรับส่งสำหรับผู้สูงอายุ ของบริษัท บางกอกแนนนี่ เซ็นเตอร์ จำกัด ที่ให้บริการการเดินทางสำหรับผู้สูงอายุให้มีความสะดวกสบายและปลอดภัย ด้วยระบบติดตามรถ (tracking) พร้อมระบบแจ้งเตือน (notification) ในกรณีฉุกเฉิน รวมถึง มีผู้ดูแลให้บริการหากต้องการ
6.นวัตกรรมด้านการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ (Activities of Daily Living)เป็นการชักจูงให้ผู้สูงอายุลุกขึ้นมาทำกิจกรรมมากขึ้น ช่วยลดโอกาสเข้าสู่ภาวะอาการติดเตียงได้ เช่น โครงการธนาคารเวลาสำหรับสะสมเวลาความดีเพื่อแลกบริการให้แก่ผู้สูงอายุ ของบริษัท ยังแฮปปี้ จำกัด ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับสะสมเวลาความดีสำหรับผู้สูงอายุ กระตุ้นให้ผู้สูงอายุลุกมาทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมในด้านต่างๆ แล้วนำเวลาความดีที่สะสมไว้มาแลกเป็นของรางวัลและบริการที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ
ข้อมูลจาก: https://www.nia.or.th
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.