ไข้หวัดใหญ่ .. ไวรัสตัวร้ายในฤดูฝน
.
"ไข้หวัดใหญ่" เป็นโรคชนิดนี้ถูกพบมานานแล้ว เกิดจากการติดเชื้ออินฟลูเอนซา (Influenza Virus) มีระยะฟักตัวเพียง 1-3 วัน ในประเทศไทยพบการระบาด 2 ช่วง คือ ฤดูฝน ในเดือนมิถุนายน-กันยายน และฤดูหนาวในเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม สามารถพบโรคไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดทั้งปี
.
โรคไข้หวัดใหญ่สามารถจำแนกออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดเอ บี และซี ผู้ป่วยอาจมีอาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัด ส่วนใหญ่สามารถหายเป็นปกติได้ใน 1-2 สัปดาห์แต่บางรายอาจมีความรุนแรงทำให้เกิดปอดอักเสบและเสียชีวิตได้ การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะคล้ายคลึงกับไข้หวัดทั่วไปคือ ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม และการสัมผัสมือหรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ ของเล่น รีโมทโทรทัศน์ เมื่อใช้มือมาขยี้ตา แคะจมูก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายของเราได้โดยง่าย เชื้อไข้หวัดใหญ่มีหลายชนิดสามารถแยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
.
1.ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบมานานแล้ว แต่เชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ตลอดเวลาทำให้คนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้วสามารถกลับมาป่วยได้อีก แต่อาการมักจะไม่รุนแรง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกัน
2.ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ที่กลายพันธุ์จากเชื้อไวรัสตัวเดิมจึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกันและติดเชื้อในวงกว้างปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบปะปนกับสายพันธุ์ต่างๆ ทั่วไป
อาการไข้หวัดใหญ่
.
โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา โดยสังเกตได้จากอาการที่มักเกิดขึ้นทันทีทันใด ต่างจากไข้หวัดธรรมดามักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญคือ ไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูงติดกันหลายวัน โดยเฉพาะในเด็กจะมีไข้สูงเกินกว่า 39-40 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 3-4 วันอาจมีอาการหนาวสั่นสะท้านร่วมด้วย ในขณะที่ไข้หวัดธรรมดาอาจมีไข้แต่ไม่สูงมากนัก นอกจากนั้นเด็กโตและผู้ใหญ่มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างมาก และเบื่ออาหารเป็นอาการสำคัญ
.
การเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค ได้แก่ โรคปอดอักเสบ โรคสมองอักเสบ โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคไตโรคเอดส์ กลุ่มคนที่จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนที่มีอันตรายได้ง่าย ซึ่งสมควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง ควรพบแพทย์ทันทีเมื่อทราบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่
.
ไข้หวัดธรรมดา กับ ไข้หวัดใหญ่
บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมักจะสับสนระหว่างอาการของไข้หวัดกับไข้หวัดใหญ่ ทำให้รักษาไม่ตรงกับโรคที่เป็น โดยหากผู้ป่วยมีไข้ต่ำน้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ และสามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ นั่นแสดงว่าอาจเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดาไม่รุนแรง แต่เมื่อใดที่ผู้ป่วยมีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณหลัง ต้นขา ต้นแขนร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไอ มีน้ำมูกมักเป็นสัญญาณเตือนจากไข้หวัดใหญ่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาการจะทุเลาและดีขึ้นภายใน 7 วัน แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรดูแลตนเองเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ให้มากเป็นพิเศษ
.
แหล่งที่มาข้อมูล : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.