ภารกิจหลัก “YMID” พร้อมสร้างไทยให้เป็น Medical Hub of Asia
ชวนทำความรู้จัก “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี หรือ YMID” กับภารกิจหลักเพื่อสร้างความพร้อมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย
ในวันที่โลกมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านสุขภาพอย่างก้าวกระโดด ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น อุตสาหกรรมการแพทย์จึงกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญเพราะสร้างประโยชน์ได้ทั้งมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ
ประเทศไทยเองเล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ ในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต หรือ Thailand 4.0 เลยได้มีการมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve ของประเทศ ผ่านนโยบายต่างๆ ผสานกับความพร้อมในด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ ทำให้ประเทศไทยเราก็นับเป็นอีกประเทศที่มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคเอเชีย
และเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย NIA ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในกลไกการพัฒนานี้ด้วย โดยหนึ่งในต้นแบบแนวคิดที่เราอยากให้ทุกคนได้รู้จักก็คือ การพัฒนา “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี หรือ YMID” ที่มีหน้าที่พัฒนาระบบนิเวศเชิงพื้นที่ให้เอื้อต่อการศึกษาวิจัย และทดลองนวัตกรรมการแพทย์ในประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการนวัตกรรมและนักลงทุนให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งนับเป็นต้นแบบย่านนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งในมิติการพัฒนานวัตกรรมที่มีจำนวนกว่า 150 โครงการ เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายภายในย่าน และมีเม็ดเงินการลงทุนที่หมุนเวียนภายในย่านกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากกลไกการทำงานร่วมกันดังต่อไปนี้
“Research” การสนับสนุนด้านงานวิจัย
เมื่อพูดถึงงานวิจัยทางด้านการแพทย์ในประเทศ ก็ต้องนึกถึงย่านโยธีเพราะเป็นอีกพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่มีบุคลากรทางการแพทย์มากที่สุด มีสถานพยาบาลขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลราชวิถี ฯลฯ และยังเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยด้านการแพทย์ตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ YMID เดินหน้าจับมือทุกหน่วยงานเพื่อเป็นพื้นที่ที่ให้บริการข้อมูลเชิงวิชาการ ทั้งงานวิจัยทางด้านการแพทย์ ข้อมูลสิทธิบัตร ไปจนถึงการวิเคราะห์แนวโน้มเทรนด์เทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ ซึ่งทำให้กลายเป็นองค์ความรู้ที่เอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมภายในย่าน โดยมีตัวอย่างนวัตกรรมที่เกิดขึ้นและใช้งานจริง ดังนี้
นวัตกรรม “ห้องแยกผู้ป่วยที่แพร่กระจายเชื้อทางอากาศแบบถอดประกอบได้สำหรับผู้ป่วยหนักโรคโควิด-19” ซึ่งถูกพัฒนาโดย บริษัท วินด์ชิลล์ จำกัด เป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญที่ช่วยเรื่องการรองรับผู้ป่วยระบบสาธารณสุขของประเทศในสภาวะวิกฤติ แถมใช้เวลาการผลิตเพียง 2-4 สัปดาห์และผลิตได้ในปริมาณที่มากอีกด้วย อีกนวัตกรรมที่น่าสนใจคือ "อาหารว่างปลาทูน่าเสริมวิตามินสำหรับผู้ป่วยบำบัดทดแทนไต” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินเตอร์ฟาร์มา-ซีวิต้า จำกัด ในการผลิต Fish Snack ที่มีปริมาณโปรตีนสูง โซเดียมต่ำ ให้กับในพื้นที่สถานพยาบาลในย่านนี้ก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อทำให้ผู้ป่วยมีอาหารที่ดีต่อสุขภาพไว้บริโภค
"Matching" การพัฒนาเครือข่ายภายในย่าน
การพัฒนาเครือข่ายเป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีความสำคัญมากกับย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เพราะเป็นการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้ทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการ Matching ผู้ประกอบการนวัตกรรมให้ทำงานร่วมกับสถานพยาบาล หรือการ Collaboration ของ YMID ที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มส่วนกลางในการผสานความร่วมมือด้านการพัฒนางานวิจัยไปจนถึงการขยายผลเป็นผลงานนวัตกรรมให้เกิดขึ้นภายในย่านผ่านกลไกการเชื่อมโยงหลายโครงการ
โดยหนึ่งในตัวอย่างความร่วมมือที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ มาตรการยกเว้นภาษีของ BOI ร่วมกับ YMID ซึ่งเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ในระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ ให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรมและนักลงทุนที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพื้นที่ศูนย์กลางนวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ในประเทศ สำหรับผู้ประกอบการคนไหนที่อยากศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามรายละเอียดที่ลิงก์นี้ได้เลย https://bit.ly/3OL5ThI
“Investment” สนับสนุนการลงทุน
ด้านการสนับสนุนการลงทุน YMID ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการนวัตกรรม และนักลงทุนให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านโปรแกรมบ่มเพาะ (Incubation Program) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ประกอบการนวัตกรรมการแพทย์ในพื้นที่นี้เพื่อส่งเสริมงานวิจัยที่มีความพร้อมให้กลายเป็นผลงานนวัตกรรมที่สร้างมูลค่า ในหลายโปรแกรม เช่น
“YMID ZEEDz Medical Innovation Program” เป็นโปรแกรมที่เน้นฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์และผู้ประกอบการนวัตกรรมที่ต้องการพัฒนาองค์ความรู้ด้านธุรกิจการแพทย์ ผ่านการอบรมอย่างต่อเนื่องกว่า 6 สัปดาห์ (หรือขึ้นอยู่กับกำหนดการในแต่ละปี) เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นผลงานนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง พร้อมทั้งมีการประกวดชิงรางวัลอีกด้วย
อีกหนึ่งโปรแกรมที่น่าสนใจคือ “LAB TO MARKET Incubation Program” เป็นโปรแกรมที่เน้นต่อยอดงานวิจัยจากห้องทดลองสู่โลกธุรกิจ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักวิจัย แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ เภสัชกร หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางด้านการแพทย์ เป็นหลัก ซึ่งต้องเป็นงานวิจัยที่มีต้นแบบภาคสนาม ได้รับการตีพิมพ์ หรือจด Patient แล้วเท่านั้น ภายในโปรแกรมนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับแนวหน้าของประเทศมาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
ทำความรู้จัก “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี หรือ YMID” เพิ่มเติมได้ที่ > https://ymid.or.th/
หรือติดตามทาง Facebook Fanpage “Yothi Medical Innovation District: ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี”
ที่มา : สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.