ทำไม น้ำแข็งถึงเกาะติดนิ้วของเรา
ประเทศไทยรู้จัก "น้ำแข็ง" ในยุคสมัยของรัชกาลที่ 4 จากการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการทำไอศกรีมเป็นของเสวยให้กับเจ้าขุนมูลนายในบางมื้อ ซึ่ง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้บันทึกเป็นหลักฐานในพระนิพนธ์ความทรงจำว่า
"ดูมิใคร่มีใครชอบ มักบ่นว่ากินน้ำแข็งปวดฟัน"
ทั้งนี้ น้ำแข็งที่พบในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีหลายประเภท อาทิ น้ำแข็งกั๊ก น้ำแข็งหลอดเล็ก น้ำแข็งหลอดใหญ่ น้ำแข็งยูนิต น้ำแข็งเกล็ด และน้ำแข็งแห้งซึ่งน้ำแข็งแห้งไม่ใช่น้ำแต่เป็นก๊าซ รับประทานไม่ได้ จะนำมาใช้เพื่อการรักษาความเย็นของอาหาร
น้ำแข็งที่ใช้ในครัวเรือนส่วนใหญ่จะผลิตเอง โดยบรรจุน้ำใส่ในภาชนะต่างๆ ในบางบ้านจะแช่น้ำเย็นในขันน้ำโลหะและนำไปใส่ในช่องทำน้ำแข็ง (ช่องฟรีซ) ของตู้เย็น
เคยสังเกตไหมว่า ทำไมน้ำแข็งที่แช่ในตู้เย็น เวลาเราเอามือจับน้ำแข็ง หรือจับภาชนะประเภทโลหะแล้ว มักจะเกาะติดนิ้วมือหรือดูดนิ้วมือเรา
จากโจทย์ดังกล่าว วิทยาศาสตร์มีคำตอบในเรื่องนี้คือ น้ำจะแข็งตัวที่จุดเยือกแข็งที่อุณหภูมิ 32 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 0 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิของน้ำแข็งที่ดูดเกาะมือเราอาจต่ำได้มากกว่า 0 องศาเซลเซียส ดังนั้น น้ำแข็งที่แช่ในช่องฟรีซซึ่งใช้เวลาในการแช่นานจนเย็นจัดจะดูดเกาะนิ้วมือเรา เนื่องจากอุณหภูมิร่างกายของเราอุ่นกว่าก้อนน้ำแข็งหรือโลหะที่แช่เย็นในระยะเวลานาน แต่ถ้านำน้ำแข็งหรือภาชนะดังกล่าวออกจากช่องฟรีซเป็นระยะเวลานาน ความเย็นจะเริ่มละลาย น้ำแข็งหรือโลหะนั้นๆ ก็จะไม่ติดนิ้วมือของเรา
ปัจจัยที่มีผลต่อการเกาะติดระหว่างผิวหนังกับน้ำแข็งดังกล่าว ไม่ได้มีแรงดึงดูดที่ผิดปกติเช่นนี้เสมอไป โดยชิ้นส่วนของน้ำแข็งจะเกาะติดกับผิวของเราหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ ความชื้นของส่วนต่างๆ ของร่างกาย (ที่สัมผัสกับน้ำแข็ง) และอุณหภูมิของน้ำแข็งหรือภาชนะบรรจุน้ำแข็ง
นอกจากนั้นยังมีตัวแปรอื่น คือ ระดับความชื้นของผิวหนัง โดยความชื้นในมือส่วนใหญ่มักจะมีน้ำติดมือ แขน ขา ฯลฯ ในรูปของความชื้นตามธรรมชาติอยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ตัวอย่างเช่น เหงื่อ ลิ้น จะยังคงเปียกตลอดเวลา เนื่องจากมีน้ำลายอยู่ในปาก ดังนั้นจึงเป็นตัวแปรสำหรับการเกาะติดกับน้ำแข็งที่อุณหภูมิเย็นจัด
นอกจากนี้โดยพื้นฐานแล้วโมเลกุลของน้ำ (H2O)ที่ประกอบด้วยอะตอมของไฮโดรเจนและออกซิเจน ต้องการจับกับอะตอมของไฮโดรเจนและออกซิเจนในมือของเรา โดยอะตอมของไฮโดรเจนจะสร้างพันธะที่แข็งแกร่ง เป็นพันธะไฮโดรเจน ทำให้มือของเราติดกับน้ำแข็ง ยิ่งน้ำแข็งที่มีอุณหภูมิเย็นต่ำกว่ามือของเรามากเท่าไหร่จะยิ่งเกาะติดมือหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่สัมผัสได้มากเท่านั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://science.howstuffworks.com
https://www.scienceabc.com
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.