มหัศจรรย์ ผลไม้ไทย...มะม่วง
มะม่วง เป็นไม้ยืนต้น มีต้นกำเนิดในประเทศอินเดียและได้ชื่อว่าเป็นผลไม้ประจำชาติของประเทศอินเดีย ในประเทศไทยบ้านเรานั้นมะม่วงจัดเป็นผลไม้เศรษฐกิจซึ่งส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก สำหรับพันธุ์มะม่วงนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์มาก โดยสายพันธุ์ที่แพร่หลายมากที่สุดจะเป็นพันธุ์เขียวเสวยแรด น้ำดอกไม้ อกร่อง ฟ้าลั่น โชคอนันต์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีรสชาติและลักษณะแตกต่างกันออกไป
มะม่วง มีชื่อสามัญว่า Mango ชื่อวิทยาศาสตร์Mangifera indica L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mangifera austroyunnanensis Hu) จัดอยู่ในวงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)
ประโยชน์ของมะม่วง นิยมนำมารับประทานเป็นผลไม้สดทั้งดิบและสุก และนำมาทานเป็นอาหารว่างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มะม่วงกวน มะม่วงแก้ว มะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงน้ำปลาหวานข้าวเหนียวมะม่วง พายมะม่วง ฯลฯ สำหรับข้าวเหนียวมะม่วงนั้นจะมีแคลอรีสูงเพราะประกอบไปด้วยน้ำตาล กะทิ เป็นหลักผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว มีสุขภาพดี การรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงจึงไม่น่าจะมีปัญหาต่อสุขภาพ แต่สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างเช่นเบาหวาน การรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงอาจทำให้น้ำตาลและไขมันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลที่ตามมาก็คือน้ำหนักตัวเพิ่ม ความดันสูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะห้ามรับประทานเสียทีเดียว ดังนั้น ในการรับประทานควรระวังและพิจารณารับประทานให้พอดีกับสุขภาพก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด
ความโชคดีของคนไทย คือ การมีผลไม้ทานได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปีที่ไม่ซ้ำกัน และผลไม้มีประโยชน์มากมายต่อร่างกายโดยมะม่วงมีประโยชน์ช่วยบำบัดโรคได้ ถ้าเราเลือกทานให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย ทั้งนี้มะม่วง 1 ต้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น ใบ และผล
ในหนึ่งผลของมะม่วง ประกอบด้วย สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย บำรุงหัวใจ ช่วยในการทำงานของระบบการย่อยอาหาร บำรุงสายตา เสริม/บำรุงผมและผิวลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งบางชนิด และสามารถลดน้ำหนักได้ด้วยผลมะม่วงดิบมีวิตามินซีสูง จึงช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน มีส่วนช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยทำให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ ปรับสมดุลภายใน ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ มีส่วนช่วยต่อต้านการเกิดโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ รวมไปถึงต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือด โรคมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น ช่วยเยียวยาและรักษาโรคเบาหวาน ส่วนไฟเบอร์จากมะม่วงยังเป็นตัวช่วยสำหรับการย่อยอาหารและเผาผลาญพลังงาน แก้อาการท้องอืด
ในตำราโบราณระบุว่า ใช้ใบมะม่วงประมาณ 15 ใบ ล้างให้สะอาด แล้วนำมาต้มในน้ำสะอาด 1 ถ้วย โดยใช้ไฟอ่อนๆ นาน 1 ชั่วโมง ถ้าน้ำแห้งก็เติมเรื่อยๆ เมื่อเสร็จแล้วนำมาตั้งทิ้งค้างคืนไว้ 1 คืน พอเช้าก็นำมากรองเอาแต่น้ำดื่มติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน
นอกจากนี้ ยังมีนำส่วนต่างๆ ของมะม่วงมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค เช่น 1) ใช้เปลือกของลำต้นมะม่วงมาต้มรับประทานแก้ตานขโมยในเด็ก ทำให้ไข้ลด รักษาอาการเยื่อปากอักเสบจมูกอักเสบ 2) เปลือกผิวของผลมะม่วงดิบนำมาคั่วรับประทานกับน้ำตาลแก้ปวดประจำเดือนสตรีได้ดี 3) การนำใบสดประมาณ 15 กรัมมาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้เมล็ดของมะม่วงสุกมาตากแห้งแล้วต้มเอาน้ำดื่ม หรือจะบดให้เป็นผงก็ได้แล้วนำมารับประทาน ช่วยแก้อาการบิด ถ่ายเป็นเลือด 4) นำใบมะม่วงสด 15 กรัม มาต้มใช้ล้างบาดแผลภายนอกได้ และ 5) ใช้เป็นยาสมานแผลสดด้วยการใช้ใบมะม่วงสดล้างให้สะอาดแล้วนำมาตำและพอกบริเวณที่เป็นแผล
นอกจากนี้ มะม่วงยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้แก่1) ต้นมะม่วง คือเนื้อไม้ สามารถนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ 2) ผลมะม่วงใช้ทำอาหารได้หลากหลายทั้งผลดิบและผลสุก ผลดิบนำไปยำมะม่วง ทานน้ำปลาหวาน ทำน้ำพริกฯ ผลสุกทำน้ำมะม่วง ทานกับข้าวเหนียวมูล 3) นำมาแปรรูป เช่น มะม่วงกวน มะม่วงแก้ว มะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม แยมมะม่วง พายมะม่วง4) ใบนำมาทำสีย้อมผ้าเป็นสีเหลือง 5) ผลสุกทำมาทรีตเมนต์บำรุงผิวหน้า ทำให้ผิวหน้าสะอาดเกลี้ยงเกลา รูขุมขนกระชับผิวเนียนไร้ริ้วรอย
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://medthai.com
https://hellokhunmor.com
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.