“จากใจชาว อว.”
ภารกิจที่ 1 โรงพยาบาลหลัก อว. ความหวังของผู้ป่วย
กองกำลังทีมแพทย์ด่านหน้ากับความหวังของประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19
ภารกิจของงานสาธารณสุขไทยในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ได้รับการขับเคลื่อนโดยทีมแพทย์ด่านหน้าและบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญที่ประชาชนต่างฝากความหวังและชีวิตไว้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต
ท่ามกลางภาวะโรคอุบัติใหม่ที่เกิดเหตุการณ์ผันผวนรายวัน กว่าสถานการณ์จะเดินทางมาถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลหลักต้องผ่านอะไรมาบ้าง สามารถติดตามได้จาก 8 เรื่องราวการทำงานของ 8 นักรบชุดขาวในโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ ทั้งการทำงานหนักเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย เดินหน้างานวิจัยเพื่อคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมหรือวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เรื่องราวแห่งความประทับใจและสะเทือนใจในเวลาเดียวกัน พร้อมกับการเรียนรู้จากวิกฤติที่ต้องรีบพลิกกลับมาเป็นโอกาส เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤติในอนาคต
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
1-01
“ศิริราชกับภารกิจด่านหน้ารับมือโควิด-19”
ย้อนกลับไปเดือนมกราคม 2563 เมื่อโรงพยาบาลศิริราชรับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกของไทย จึงได้ตัดสินใจเปิดวอร์รูมเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างรวดเร็ว การติดตามทำให้รู้ว่า แม้มีเคสต่อวันจำนวนไม่มาก แต่มีสัญญาณที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนั้น ศิริราชจึงได้จับมือกับอีก 4 คณะแพทยศาสตร์ซึ่งทำงานร่วมกันอยู่แล้ว เร่งนำทักษะความรู้ออกมากู้วิกฤติร่วมกับรัฐบาล
“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เป็นคำขวัญที่พวกเราช่วยกันคิด เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันป้องกันโรค เรามียุทธศาสตร์มากมายเพื่อควบคุมโรค ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผลิตงานวิจัยต่าง ๆ ที่ช่วยชีวิตผู้คน อย่างการคิดค้นการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ที่องค์การอนามัยโลกนำไปอ้างอิงถึงประสิทธิภาพของนโยบายที่ดีในบทความ WHO Interim Recommendations เป็นต้น ภารกิจทั้งหมดที่พวกเราช่วยกันทำถือว่าช่วยควบคุมสถานการณ์ได้ดี จำนวนผู้เสียชีวิตต่ำ มีตัวเลขดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และการแพทย์ถูกพัฒนาเป็นระบบมากขึ้น”
“การแก้ปัญหาโควิด-19 เปรียบเหมือนการทำโปรเจกต์ที่มีสมาชิกเป็น 3 ภาคส่วนคือ รัฐบาล นักวิชาการ และสังคม เราต้องตัดสินใจให้เร็วและทำงานไปพร้อมกัน ถ้าสู้เพียงลำพังไม่มีทางสำเร็จ สิ่งที่ประทับใจคือ แม้ทุกคนรู้ว่ากำลังแก้ปัญหาในเรื่องที่เสี่ยง แต่ไม่มีใครถอย เดินหน้าทำทันทีทั้ง ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน และได้เรียนรู้ว่า เราต้องไวในการป้องกันภาวะคุกคามของจุลชีพ หรืออุบัติการณ์ต่าง ๆ ก่อนที่จะเกิดขึ้น พัฒนานวัตกรรมออกมาตั้งรับ กำหนดผู้รับผิดชอบให้ชัดเจนและต้องปรับกฎระเบียบให้ง่ายต่อการทำงาน”
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
—————————
1-02
“เคสแรกของโลกที่รามาธิบดี”
บทบาทของรามาธิบดีในวิกฤติโควิด-19 คือการเดินหน้าไปพร้อมกันใน 3 ส่วน ได้แก่ การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านโรงพยาบาลรามาธิบดี พญาไท และโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ การศึกษาและงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงการผลิตนักศึกษาแพทย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งภารกิจทั้งหมดนี้ เริ่มต้นจากวางแผนการทำงานตั้งแต่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย แต่ถึงกระนั้นการแพร่ระบาดที่รวดเร็วและรุนแรงก็ทำให้การควบคุมโรคน่ากังวลยิ่งขึ้น
“ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อโรคระบาดใหม่ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความเสียสละของบุคลากร ทุกคนที่ไม่ได้กลับบ้าน ต้องอยู่ยาว ลุยงานกันเป็นเดือน ๆ มีเคสหนึ่งน่าประทับใจและเป็นความสำเร็จเคสแรกของโลกคือ การปลูกถ่ายไขกระดูกคนไข้ธาลัสซีเมีย ซึ่งผู้บริจาคคือน้องชายอายุ 5 ขวบ ทีมแพทย์ล้างไขกระดูกของพี่สาวเพื่อเตรียมการปลูกถ่ายแล้ว แต่น้องชายกลับติดโควิดขึ้นมา นี่จึงเป็นเคสแรกที่นำไขกระดูกจากคนไข้โควิดไปใส่ในร่างกายของผู้ที่ไม่มีเชื้อ แต่ไม่มีทางเลือกอื่น หากไม่ปลูกถ่าย พี่สาวอาจเสียชีวิตได้ ท้ายที่สุดทำสำเร็จ พี่สาวไม่ติดเชื้อและทั้งคู่รอดชีวิต”
“วิกฤติให้บทเรียนสำคัญและฉายภาพความไม่พร้อมในหลายด้าน อาทิ กฎหมายที่อาจยังไม่รองรับสถานการณ์โรคระบาดเท่าที่ควร โครงสร้างพื้นฐานในกรุงเทพฯ ที่ไม่มี Primary Care เหมือนต่างจังหวัด ทำให้คนไข้กระจุกตัวจนดูแลประชาชนได้ไม่ครบถ้วน องค์การอาหารและยา (อย.) ที่ต้องปรับบทบาทตัวเองใหม่ในการขึ้นทะเบียนวัคซีนและเวชภัณฑ์ รวมถึงระบบไอทีที่ไม่เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงาน ต้องปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เข้าถึงกันได้ง่าย เมื่อได้บทเรียนแล้ว เราก็ควรเตรียมพร้อมให้ดีก่อนที่วิกฤติใหม่จะมาเยือน”
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา
คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
—————————
1-03
“ซิโนฟาร์ม วัคซีนเพื่อคนไทยทุกกลุ่ม”
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (CRA) เป็นหน่วยงานน้องใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 โดยเป็นสถาบันการวิจัยและวิชาการชั้นสูงที่จัดการศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์ และการสาธารณสุข สำหรับในสถานการณ์โควิด-19 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อาจไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง แต่หากได้มีส่วนร่วมในการให้ความรู้เพื่อลดความตระหนก จัดหาและฉีดวัคซีนให้กับประชาชน รวมถึงการทำงานด้านการวิจัย
“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นที่แรกที่นำวัคซีนซิโนฟาร์มเข้ามาในประเทศไทย หากย้อนไปตอนนั้นที่หลายประเทศเริ่มได้รับวัคซีนกันแล้ว แต่เรายังติดปัญหาเรื่องระบบราชการ ทำให้ได้วัคซีนล่าช้า ด้วยการที่องค์กรปรับตัวได้เร็วจึงลองศึกษาข้อมูล ซึ่งเราได้รับการติดต่อจากตัวแทนในจีนเพื่อเสนอวัคซีนซิโนฟาร์ม โชคดีที่องค์การอนามัยโลกก็อนุมัติให้ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน เราจึงนำเข้ามาทันที ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลเพิ่งได้รับวัคซีนซิโนแวครอบแรก แต่มีจำนวนไม่เพียงพอ เราจึงช่วยแบ่งเบาภาระ ฉีควัคซีนให้แรงงาน กลุ่มเปราะบาง และประชาชนกว่า 10 ล้านโดส”
“ตอนทำภารกิจ เราเหนื่อยกันมาก แม้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนกว่าร้อยละ 10 ของประเทศ แต่มีบุคลากรที่ทำงานในส่วนนี้แค่ 10 คน เพราะภารกิจหลักอื่น ๆ ยังต้องเดินหน้าต่อเช่นกัน โดยได้นำระบบไอทีและออกแบบแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชน รวมถึงได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อย่างโครงการหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ช่วยกระจายการฉีควัคซีนไปยังผู้คนในพื้นที่ห่างไกล ชายขอบ รวมถึงคนที่ไม่มีสัญชาติ นักเรียน พระภิกษุสงฆ์ จนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี”
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์
เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
—————————
1-04
“การเตรียมพร้อม ทำได้เลย ไม่ต้องรอวิกฤติ”
คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในนาม ‘One Chula’ โดยรวมบุคลากรกว่า 11,000 คน มาร่วมกันทำงาน โดยตั้งเป้าเป็นสถาบันต้นแบบด้านการแพทย์ที่ได้รับมาตรฐานระดับนานาชาติของไทย สำหรับโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 แท้จริงแล้ว ทางจุฬาฯ ได้ให้ความสำคัญและตั้งศูนย์โรคอุบัติใหม่ (Emerging Infectious Diseases Center) ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 มานานกว่า 5 ปีแล้ว
“เวลาที่เราประเมินความเสี่ยงของประเทศ มองว่าโรคอุบัติใหม่เป็นสิ่งสำคัญมาก เราจึงตั้งศูนย์ฯ ขึ้นมาตั้งแต่มีโรคซาร์ส โรคเมอร์สเกิดขึ้น มีการเปิดห้องแล็บวิจัยและวินิจฉัยโรค มีการรักษาพยาบาลที่แยกจากผู้ป่วยทั่วไป เมื่อเราเตรียมพร้อมไว้ระดับหนึ่ง เมื่อมีผู้ป่วยโควิดรายแรกเข้ามาในไทย เราจึงสามารถตรวจสอบและส่งผลเพื่อยืนยันกับแล็บที่ประเทศจีน ซึ่งผลก็ตรงกัน ทำให้เราเป็นประเทศที่วินิจฉัยผู้ป่วยโควิดซึ่งอยู่นอกประเทศจีนได้ครั้งแรกของโลก เพราะผลจากการเตรียมตัวของบุคลากรมาแล้วล่วงหน้า รวมถึงทุ่มเทในทุกหน้างาน ทุกคนคือ ฮีโร่จริง ๆ ”
“เมอร์สและซาร์สให้บทเรียนที่น่ากลัว ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือ บุคลากรทางการแพทย์ ตอนนั้นก็กังวล แต่เพื่อลดความกลัว เราต้องดูแลทุกอย่างให้ได้มาตรฐานที่สุด ป้องกันทีมและผู้ป่วยให้ปลอดภัย นวัตกรรมใหม่จึงควรคิดค้นออกมาเพื่อรองรับวิกฤติ มองว่าโควิดสอนสิ่งที่สำคัญมาก คือเราสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาได้จากความรู้ที่มี โควิดเป็นแค่ตัวเร่งให้เห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปี เกิดขึ้นได้ในเวลาแค่ไม่กี่เดือน พวกเรามีศักยภาพ แต่ไม่มีกลไกขับเคลื่อนให้สำเร็จ หลังจากนี้จึงควรเริ่มทำงาน เตรียมพร้อมกันได้เลย ไม่ต้องรอให้อะไรมาบังคับ”
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
—————————
1-05
“หน้าด่านเมืองเหนือ สู้ภัยโควิด-19”
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สวนดอก) เป็นพื้นที่ของหน่วยงานด่านหน้าเพื่อรับมือกับวิกฤติโควิด-19 รองรับผู้ป่วยระดับหนักและรุนแรง รวมถึงกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุและเด็กกำพร้าในพื้นที่เชียงใหม่ แม้หนักหนา แต่ก็ผ่านมาได้ ขณะเดียวกัน ทีมทำงานยังได้เรียนรู้จากวิกฤติและรู้จักนวัตกรรมใหม่ที่เป็นโอกาสพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้นจนผ่านการประเมินคุณภาพตามมาตรฐาน HA (Re-accreditation Survey) เป็นโรงพยาบาลคุณภาพระดับ Advance HA
“ขณะที่นั่งเป็นประธานวอร์รูมคนไข้โควิด สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของโรคอย่างรวดเร็วตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปี ทั้งการอุบัติใหม่และการกลายพันธุ์ที่ทำให้เราไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ต้องปรับตัวบนความท้าทายตลอดเวลาโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของการทำงาน มีทีมเวิร์กที่ดี คอยติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประสานการทำงานกับสาธารณสุขจังหวัดได้อย่างราบรื่น จนสถานการณ์โควิด19 ในเชียงใหม่ที่ติดอันดับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุดในช่วงแรกดีขึ้น นี่คือผลลัพธ์ของพลังความร่วมมือร่วมใจที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน”
“ในอนาคตอาจจะมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นอีก ทางโรงพยาบาลจึงเตรียมพร้อม ทั้งทางด้านบุคลากรและสถานที่ไว้รองรับ รวมถึงมาตรการชีวิตวิถีถัดไป (Next Normal) หรือการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่หลังจากปรับตัวกับสถานการณ์โควิด-19 จนคุ้นชิน โดยเฉพาะในส่วนของการเดินทางมารักษาตัวที่โรงพยาบาล ที่อาจปรับเปลี่ยนเป็นการพบแพทย์ออนไลน์ หรือการรักษาจากที่บ้านไม่ต้องมาโรงพยาบาล เป็นต้น รวมถึงการทำงานแบบสหวิชาชีพที่ชัดเจนมากขึ้น เน้นการทำงานที่มีคุณภาพและรวดเร็ว หากปรับตัวช้าจะตามโรคไม่ทัน และเน้นสื่อสารกับประชาชนตลอดเวลา เพื่อความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน”
ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
—————————
1-06
“แม่ทัพใหญ่รับมือวิกฤติโควิด-19”
ทีมแพทย์ด่านหน้า คือบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่ให้การรักษาและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ถือเป็นกลุ่มบุคคลสำคัญที่จะนำพาคนไข้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ให้ได้อย่างดีที่สุด โดยในระยะแรก ทีมด่านหน้าหลายคนไม่มั่นใจว่าการทำงานจะปลอดภัยหรือไม่ แต่เมื่อมีการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง ไม่นาน บุคลากรของโรงพยาบาลศิริราชทุกคนก็สามารถลุยงานต่อได้อย่างไร้ความกังวลและมีประสิทธิภาพสูงสุด
“ส่วนตัวเคยผ่านวิกฤติที่ต้องช่วยเหลือผู้ป่วยครั้งใหญ่มาแล้วสองครั้งคือ ไข้หวัดใหญ่ในปี 2552 และน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2554 แต่เหตุการณ์นี้ต่างออกไป เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ ซึ่งนอกจากการสร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรแล้ว ยังต้องสนับสนุนเครื่องมือแพทย์เพื่อให้พวกเขาทำงานได้ง่ายและปลอดภัยที่สุด โดยในช่วงนั้น ศิริราชเปิดรับเงินบริจาคเพื่อภารกิจนี้โดยเฉพาะ มีเงินหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก จึงสามารถแบ่งไปช่วยเหลือโรงพยาบาลขนาดเล็กทั่วประเทศได้อีก 200 แห่ง กว่า 300 ล้านบาท เพื่อดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุดไปพร้อม ๆ กัน”
“โควิด-19 เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลไม่กี่แห่งจะรับมือได้ แต่เป็นงานกลุ่มที่ต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอก ทั้งด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม สื่อมวลชน รวมถึงภาคเอกชนที่ผลิตสินค้าต่าง ๆ เรียกได้ว่าวิกฤตินี้ทำให้เห็นภาพความร่วมมือของสถานพยาบาลกับหน่วยงานภายนอกครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย ทุกคนมีใจอยากช่วยโดยมองข้ามเรื่องผลประโยชน์ และอีกภาพที่ประทับใจคือ การได้เห็นผู้ป่วยวิกฤติ หายดี และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้ง ซึ่งเป็นผลจากความทุ่มเทของทีมแพทย์ด่านหน้าที่ตั้งใจดูแลอย่างเต็มที่ที่สุด”
นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
—————————
1-07
“เครือข่ายโรงเรียนแพทย์ รวมพลังคลังสมองรับมือโควิด-19”
หน้าที่หลักของเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) คือการเชื่อมโยงการทำงาน ระดมสมอง และสรรพกำลังของโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยทั้ง 25 แห่งทั่วประเทศ เพื่อร่วมแก้ปัญหาสาธารณสุขของไทย ตลอดจนนำเสนอรูปแบบการบริการและพัฒนาระบบประกันคุณภาพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยในช่วงโควิด-19 งานทุกอย่าง ทั้งเรื่ององค์ความรู้ งานวิจัย รวมถึงการดูแลรักษาผู้ป่วย ได้รับการยกระดับขึ้นมาเป็นวาระสำคัญให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน
“ทุกภารกิจคือ ความรับผิดชอบของทุกคน ทำตามศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ และทำงานแบบรู้หน้าที่โดยไม่ต้องรอให้ใครมอบหมาย งานจึงสำเร็จและก้าวข้ามข้อกำจัดไปได้ ด้วยความร่วมมือของทุกคน แม้จะต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ ทำงานกันหนักขึ้น เนื่องจากระบบงานบางอย่างไม่ได้ถูกคิดไว้ล่วงหน้า บุคลากรต้องทำงานกันเกือบตลอดเวลา ค้นคว้าหาข้อมูล ทำวิจัย หรือพัฒนานวัตกรรมให้ทันต่อสถานการณ์ รู้ว่าเหนื่อย แต่เชื่อว่าทุกคนภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ ภาพรอยยิ้ม น้ำใจ และความทุ่มเทในวิกฤติ เป็นภาพที่สวยงามมาก”
“วิกฤติเกิดขึ้นให้เราได้เรียนรู้และนำมาพัฒนาระบบรับมือให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้คนทำงานไม่เหนื่อยจนเกินไป โดยต้องเริ่มจากการวางแผน จัดให้มีการซ้อมและทบทวนการทำงานอย่างน้อยปีละครั้ง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ในทุกระดับ หากรับมือกับวิกฤติได้เร็วก็จะทำให้เราฟื้นตัวได้เร็ว ทั้งสภาพจิตใจของผู้คนและศักยภาพของประเทศ ขณะที่ภาพใหญ่ หน่วยงานที่จัดระบบต้องตรวจสอบระบบอย่างสม่ำเสมอ จะได้ปรับแผนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที รวมถึงติดตามและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้การทำงานดีขึ้นด้วย”
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ
ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet)
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
—————————
1-08
“โรคอุบัติใหม่กับความท้าทายที่ไม่ยึดติดกรอบเดิม ๆ”
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับเป็น 1 ใน 5 โรงเรียนแพทย์ที่ร่วมกันเสนอข้อมูล ประเมิน และติดตามสถานการณ์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รวมถึงให้ความรู้กับประชาชนคู่ขนานไปกับการรับมือและปรับนโยบายภายในเพื่อดำเนินการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ให้ดีที่สุด ผ่านโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติและโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ที่บางช่วงมีผู้ป่วยมากเกินกว่าที่จะรองรับได้
“ช่วงปี 2564 ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและเป็นคนไข้หนัก ทำให้อุปกรณ์บางอย่างไม่เพียงพอ กว่าจะรับเคสคนไข้ไอซียูก็ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน ทำให้เราต้องพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จากเดิมมีห้องความดันลบแค่ 2 ห้อง ตอนนี้มีเพิ่มขึ้นสามารถรองรับได้ถึง 70-100 คน นั่นคือการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อชีวิตของผู้ป่วย ภาพรวมการทำงานถือว่าสำเร็จ มองว่าเกิดจากที่ทุกคนเปิดรับความเห็นกัน หากมีอีโก้ยึดติดกับสิ่งเดิมบนสภาวะของโรคอุบัติใหม่ก็คงไปต่อไม่ได้ มันมีสิ่งใหม่ที่ต้องเรียนรู้ทุกวันซึ่งถือว่าหลุดออกจากกรอบการทำงานปกติพอสมควร”
“ภาพที่เห็นเป็นประจำคือ ทีมแพทย์เหงื่อท่วมชุด วิ่งวุ่นรับเคสผู้ป่วยใหม่ บุคลากรทุ่มเททำงาน สองสัปดาห์แล้วก็ยังไม่ได้กลับบ้าน ทำงานอยู่ก็ต้องกักตัวต่อ อาจารย์แพทย์กลับมาช่วยกันคิดระดมความเห็น อาสาสมัครตั้งโต๊ะรับคนไข้และประสานส่งยาให้ถึงบ้าน พวกเรามักชื่นใจทุกครั้งที่เห็นคนไข้ที่เราดูแลหายป่วย จากต้องใส่ท่อหายใจ เขาได้ชีวิตกลับมาอีกครั้ง เป็นความสุขที่รับรู้ได้ แม้การรักษาจะอยู่ไกลกัน พวกเขาได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว ไม่ต้องโดดเดี่ยวอีกแล้ว”
รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.