“จากใจชาว อว.”
ภารกิจที่ 2 โรงพยาบาลสนาม อว. กองหนุนขนาดยักษ์
โรงพยาบาลสนาม ทีมกองหนุนเสริมทัพสาธารณสุขไทยในวิกฤติโควิด-19
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกระลอก ตั้งแต่ระลอกแรกในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 จนถึงกลางปี 2565 ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 4.65 ล้านคน โดยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรงส่งผลให้ระบบบริการสาธารณสุขของโรงพยาบาลหลักไม่สามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อได้อย่างเพียงพอ โรงพยาบาลสนามและศูนย์แยกกักชุมชน สังกัดกระทรวง อว. ทั้ง 74 แห่งทั่วประเทศ จึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง
โรงพยาบาลสนามแต่ละแห่งที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานทางการแพทย์ เกิดจากการทำงานร่วมกันอย่างหนักของหลายหน่วยงานในพื้นที่ และการมีทีมเวิร์กที่ดีทำให้โรงพยาบาลสนามหลายแห่งใช้เวลาจัดตั้งเพียง 1-2 วันก็สามารถเปิดรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลหลักได้ในทันที โดยบทสัมภาษณ์ต่อจากนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างการทำงานที่ถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ของผู้บริหาร 5 โรงพยาบาลสนามหลักของประเทศ และอีก 1 หน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจและเรียนรู้ถึงบทเรียนต่าง ๆ จากวิกฤติครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
—————————
2-01
“ต้นแบบโรงพยาบาลสนาม”
“ธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” เป็นอุดมการณ์ของชาวธรรมศาสตร์ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น วิกฤติโควิด-19 จึงเป็นโอกาสที่ลูกแม่โดมจะได้ช่วยเหลือสังคมไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน โดยทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้วางแผนการทำงานอย่างเร่งด่วนและรัดกุม ตั้งคณะทำงาน ประเมินสถานการณ์ รวมถึงคิดค้นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ที่สำคัญคือการตัดสินใจจัดตั้งโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เพื่อรองรับผู้ป่วยและสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน โดยเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรกและกลายเป็น ‘ต้นแบบ’ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของประเทศไทยในที่สุด
“เราทำงานร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติอย่างเป็นเนื้อเดียว จัดระบบการดูแล ส่งต่อ และเปิดสถานที่รองรับผู้ป่วย โดยใช้เวลาดำเนินการเพียง 2 วันก็สามารถเปิดรับผู้ป่วยได้ทันที 308 เตียง ทำหน้าที่รับช่วงต่อในกลุ่มผู้ป่วยที่มีเริ่มมีอาการดีขึ้นแล้วจาก 5 โรงพยาบาลใหญ่สังกัดโรงเรียนแพทย์ พร้อมทั้งเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนที่สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ถึงวันละ 3,000 คน ขณะเดียวกัน เรายังให้ความสำคัญต่อการใช้องค์ความรู้ งานวิจัย รวมถึงทรัพยากรของมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ สำหรับดูแลประชาชนในช่วงวิกฤติอีกด้วย”
“เราภูมิใจที่ได้รับผิดชอบต่อสังคมและก้าวออกมารับรองความมั่นคงปลอดภัยของระบบสาธารณสุขของประเทศไทยถึงความพร้อมในการดูแลสถานการณ์การระบาดของโรคอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อนำพาทุกคนให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ นอกจากแพทย์และพยาบาลที่ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว เรายังมีทีมจิตอาสาธรรมศาสตร์ที่คอยสนับสนุนภารกิจ ช่วยแบ่งเบาการทำงานของทีมแพทย์ เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุม ครบถ้วน และสะดวกสบาย ให้สมกับการเป็น ‘มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน’ ด้วยหัวใจอย่างแท้จริง”
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
—————————
2-02
“บทบาทมหาวิทยาลัยแห่งเทคโนโลยีในภาวะวิกฤติ”
ในช่วงหนึ่งที่มีผู้ป่วยจำนวนมากจนเกินกำลังของโรงพยาบาลหลัก สถานที่ที่เป็นที่พึ่งของผู้ป่วยและช่วยเพิ่มความมั่นใจในการดูแลรักษาให้กับประชาชนได้ คงหนีไม่พ้น ‘โรงพยาบาลสนาม’ ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) แม้ไม่ได้เปิดหลักสูตรด้านการแพทย์ แต่ด้วยสถานการณ์การติดเชื้อในจังหวัดปทุมธานีที่พุ่งสูงขึ้น จึงได้มีการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่และประสานความร่วมมือจากโรงพยาบาลในพื้นที่จนสามารถเปิดโรงพยาบาลสนามภายในมหาวิทยาลัยได้ โดยใช้เวลาเพียง 2 วัน
“พื้นที่หอพักนักศึกษาและโรงยิมถูกเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลสนาม จำนวน 270 เตียงได้ด้วยน้ำใจจากทุกภาคส่วน อีกทั้งผู้ป่วยยังได้รับการดูแลอย่างดี เพราะเรามีเครือข่ายที่เข้มแข็งจนสามารถขยายการช่วยเหลือไปยังโรงพยาบาลธัญบุรี และตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งใหม่ที่วิทยาเขตปราจีนบุรีได้อีกด้วย แม้ตอนแรกจะมีคนไม่เห็นด้วย แต่เมื่อทุกคนเข้าใจว่านี่เป็นโอกาสจะได้ตอบแทนประเทศและได้เรียนรู้จากภาวะวิกฤติ ทำให้ทุกคนผลักดันความกลัวออกไปและมาช่วยกันทำงาน ใช้ความรู้ ความสามารถ และความเสียสละเพื่อส่วนรวม”
“เราได้นำเทคโนโลยีมาทำงานหลายส่วน ทั้งเรื่องฐานข้อมูลผู้ป่วย กล้องวงจรปิด รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกการทำงานให้ราบรื่นยิ่งขึ้น อีกทั้งภารกิจนี้ยังช่วยกระตุ้นให้เราอยากพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อรองรับกับปัญหาหรือวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น เพราะเราไม่อยากมีภาพจำความร้ายแรงของวิกฤติ ที่รถพยาบาลวิ่งเข้า-ออกทั้งวัน แม้เราจะรับมือได้ดี ทุกคนปลอดภัยได้กลับบ้าน และไม่มีใครเสียชีวิตก็ตาม”
รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
—————————
2-03
“จากความกังวลสู่การแก้ปัญหาให้ชุมชน”
แรกเริ่มการก่อตั้งโรงพยาบาลสนามของมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีนั้น เต็มไปด้วยความกังวลของบุคลากรและชุมชนโดยรอบ เพราะหวาดกลัวต่อการแพร่ระบาด แต่ด้วยปณิธานของความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นบวกกับจุดแข็งของมหาวิทยาลัยที่ทำงานเป็นเครือข่ายกับชุมชนมาโดยตลอด จึงสามารถสร้างความเข้าใจ ทั้งเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ระยะห่างจากชุมชน และภาวะโรค จนทำให้ความกังวลใจคลี่คลายลงไปได้ และในที่สุดโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ก็ได้ช่วยเหลือผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวชุมชนในพื้นที่
“โรงพยาบาลสนาม จำนวน 1,560 เตียง ได้ให้บริการผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมาจากโรงพยาบาลในพื้นที่ไปกว่า 10,000 คน รวมถึงการเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนต่อเนื่อง บริการพี่น้องประชาชนมากกว่า 9,000 คน นับเป็นงานใหญ่ที่เราไม่เคยทำ แต่ก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยใจที่อยากทำเพื่อส่วนรวมของทุกคน นำอุปสรรคและประสบการณ์การทำงานแต่ละวันมาเรียนรู้และพัฒนางานในวันถัดไปให้ดียิ่งขึ้น จนโรงพยาบาลหลายแห่งติดต่อขอให้บุคลากรของเราไปช่วยจัดระบบการอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับผู้ป่วยและผู้ฉีดวัคซีน”
“เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นภาพชัดว่า คนราชภัฏมีจิตอาสา ฝ่าฟันความกลัวและความกังวล รวมถึงเสียสละเพื่อช่วยเหลือส่วนรวมผ่านเครือข่ายที่ทำงานกันอย่างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ผ่านวิกฤติมาได้ แม้ไม่มีความถนัดเฉพาะด้าน ทางการแพทย์หรือพยาบาลก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เรารู้เลยว่ายังมีจำนวนพยาบาลไม่เพียงพอ จึงเกิดแนวคิดที่จะเปิดหลักสูตรพยาบาลในมหาวิทยาลัย เพื่อผลิตบุคลากรช่วยรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ตอนนี้ได้หารือกับโรงพยาบาลในพื้นที่แล้วซึ่งทุกโรงพยาบาลก็ยินดีเปิดพื้นที่ให้ฝึกฝนด้วย”
ผศ.ดร.ยุวลักษณ์ เวชวิทยาขลัง
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
—————————
2-04
“ต่อยอดสู่สมุนไพรทางการแพทย์”
เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ โดยในช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงจนโรงพยาบาลหลักในเชียงใหม่ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อีกต่อไป ทางจังหวัดจึงติดต่อมายังมหาวิทยาลัยแม่โจ้เพื่อขอใช้พื้นที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม แม้ไม่มีประสบการณ์และไม่ได้เปิดการเรียนการสอนทางด้านการแพทย์และพยาบาล แต่ด้วยชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน ทางมหาวิทยาลัยจึงรีบประชุมด่วน และในที่สุดก็เปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ของจังหวัด ได้ภายในเวลาไม่ถึง 2 วัน
“เหตุการณ์นี้สอนให้รู้ว่า เราทำได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในการพัฒนาหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพราะตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมา 88 ปี ไม่เคยมีคณะนี้มาก่อนและตั้งเป้าจะเปิดแน่นอนในไม่ช้านี้ โดยจะต่อยอดด้านสมุนไพรทางการแพทย์ที่เราเชี่ยวชาญอยู่แล้วด้วย มองว่าต่อไปเรื่องการดูแลสุขภาพจะเป็นวาระที่สำคัญของชาติและของโลก ขณะเดียวกัน การคำนึงถึงการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็เป็นเรื่องสำคัญ หากจะมีการสร้างอาคารสถานที่ในอนาคตต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วย”
“ประทับใจการมีส่วนร่วมของบุคลากร ชุมชน และทุกภาคส่วนที่ช่วยเหลือกันอย่างต่อเนื่อง สลับผลัดเปลี่ยนเวรทำงานกันอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย มีคุณหมอพยาบาลเข้ามาดูแลและให้กำลังใจผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเครียด โดยเรามีจิตแพทย์และมี ‘พยาบาลแม่เสียงทอง’ ที่คอยร้องเพลงให้ผู้ป่วยฟังเพื่อคลายเครียด จนผู้ป่วยประทับใจและเขียนจดหมายมาขอบคุณ การทุ่มเทและเอาใจใส่นี้ สร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น จนมีผู้สนใจสมัครเข้าศึกษาต่อมากกว่าปีก่อน ๆ กว่า 1,000 คน”
รศ.ดร.วีระพล ทองมา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้
—————————
2-05
“ความสำเร็จจากการทำงานอย่างมีระบบ”
หนึ่งในบทบาทสำคัญของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 คือการดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับโรงพยาบาลสนามภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง อว. ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 70 แห่ง โดยหากที่ใดต้องการความช่วยเหลือ ทาง สป.อว. จะเป็นผู้ประสานและสนับสนุนการทำงานให้ราบรื่นที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังทำโครงการ อว.พารอด ติดตามรับฟัง ให้กำลังใจ และทำกล่องสิ่งของจำเป็น ทั้งอาหาร เวชภัณฑ์ สมุนไพรให้กับกลุ่มผู้ป่วยควบคู่กันไปด้วย
“ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย เพราะสามารถช่วยเหลือคนในชุมชนได้อย่างดีเยี่ยม และทำให้เราได้เห็นถึงภาพการเสียสละของเจ้าหน้าที่และบุคลากรในทุกมหาวิทยาลัยที่เป็นกองหนุนให้สถานการณ์สาธารณสุขของประเทศเดินหน้าไปได้ รู้สึกประทับใจมากตอนที่ไปเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม รู้ว่าทุกคนเหนื่อยมาก แต่ยังทำงานกันอย่างเต็มที่และสมบูรณ์ที่สุดในเวลาที่จำกัด รวมถึงต้องขอบคุณเครือข่าย อว. ที่ร่วมบริจาคเงินและสิ่งของเข้ามา เพื่อให้เราได้รวบรวมและจัดซื้อสิ่งของให้กับโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยต่อไป”
“บทเรียนที่ได้จากการทำงานในภาวะวิกฤติคือ การมีระบบทำงานที่ดีจะเป็นเคล็ดลับของความสำเร็จ ไม่ว่าภารกิจจะใหญ่หรือหนักหนาแค่ไหนก็จะผ่านไปได้ หากเรามอบหมายหน้าที่อย่างชัดเจน มีกลไกการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทำความเข้าใจปัญหาอุปสรรคในการทำงานแต่ละวันและแก้ไขอย่างรวดเร็วก่อนที่ปัญหาใหม่จะมาถึง โดยไม่ควรพอกพูนปัญหาไปเรื่อย ๆ จนไม่สามารถรู้ต้นตอที่แท้จริงของปัญหาได้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 คือโรคอุบัติใหม่ ทุกคนไม่มีข้อมูลมากพอ จึงมีปัญหาหรือบทเรียนใหม่ให้ได้เรียนรู้ในทุกวัน”
คุณสุณีย์ เลิศเพียรธรรม
ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
—————————
2-06
“สื่อสารดีช่วยสร้างพลังบวก”
หลังได้รับนโยบายจากทาง อว. ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงเรียกประชุมด่วนพร้อมหารือกับทางจังหวัด โดยใช้เวลาเตรียมการไม่ถึง 2 วันก็สามารถเปิดพื้นที่โรงพยาบาลสนามรับผู้ป่วยที่ล้นมาจากโรงพยาบาลขอนแก่นได้ถึง 300 เตียง มีทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำมหาวิทยาลัยคอยดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทำมาตรฐานความปลอดภัย ป้องกันการแพร่เชื้อ และลดความกังวลของบุคลากรควบคู่กันไปด้วย
“การทำความเข้าใจเรื่องข้อมูลโรคระบาดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้ผู้รับสารได้รับรู้ข้อเท็จจริง หากย้อนไปตอนนั้น ข่าวสารมาจากหลายทิศทางจนไม่รู้ว่าอะไรคือข้อมูลจริงหรือปลอม จนก่อให้เกิดความวิตกกังวล แต่เมื่อสร้างความเข้าใจ ชี้แนะบนพื้นฐานวิชาการ ที่สุดคนก็จะเข้าใจและไว้ใจ จึงเชื่อว่าการสื่อสารที่ดีจะเป็นพลังช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวก ให้การดำเนินงานในหลายด้านลุล่วงไปได้ด้วยดี ทั้งภารกิจของโรงพยาบาลสนามและการฉีดวัคซีนที่ในช่วงแรก หลายคนยังลังเลที่จะฉีด”
“ประเทศไทยควรเตรียมรับมือกับวิกฤติในอนาคตด้วยการสร้างนวัตกรรม อย่างช่วงที่อุปกรณ์ขาดแคลน ทั้งหน้ากากอนามัย ชุด PPE หรือเครื่องช่วยหายใจ หากไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ ผู้ป่วยหรือบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่มีทางรอด ไทยอาจไม่ขาดแคลนอุปกรณ์ง่าย ๆ แต่จะมาตกม้าตายเรื่องเครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องนำเข้าเป็นหลัก ดังนั้นควรใช้โอกาสนี้ผลิตหรือพัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ในประเทศโดยที่ไม่ต้องรอการนำเข้าจากต่างประเทศและอาจส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย”
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล
อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.