“ถอดบทเรียนการต่อสู้กับโควิด-19”
ภารกิจที่ 4 U2T สร้างงาน สร้างรายได้เสริมสร้างความรู้สู่ชุมชนพัฒนา
การทำงานของโครงการ U2T มีแนวความคิดริเริ่มจากกระทรวง อว. ผ่านสำนักงานปลัดกระทรวง อว. (สป.อว.) ก่อนส่งต่อไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และกระจายสู่ชุมชนกว่า 3,000 ตำบลทั่วประเทศ กลายเป็นโมเดลตัวอย่างที่หน่วยงานต่าง ๆ สามารถใช้ถอดบทเรียนเพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่ของการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติ วิธีการทำงาน รวมถึงการลงพื้นที่ และที่สำคัญคือ การประสานงานระหว่างหน่วยงาน ที่ถือเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับความสำเร็จของโครงการนี้
“สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นคือ การให้นิสิตนักศึกษาหรือบัณฑิตจบใหม่ได้ลงไปสัมผัสกับพื้นที่ ไปอยู่กับชุมชน ไปอยู่กับปัญหาจริง ๆ ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้รับประสบการณ์การทำงานโดยตรง ส่วนมหาวิทยาลัยก็ได้ทำงานในพื้นที่มากขึ้น ได้เรียนรู้ว่าแต่ละพื้นที่มีปัญหาอะไรและมีปัญหาใดบ้างที่ทางมหาวิทยาลัยสามารถเข้าไปช่วยแก้ไขได้ ยิ่งเป็นช่วงเวลาวิกฤติที่อาจมีปัญหามากกว่าปกติ ซึ่งตรงนี้ทั้งนิสิตนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และมหาวิทยาลัยจะยิ่งมีโอกาสได้แสดงศักยภาพและมีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น ทีนี้ถ้าหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีก อย่างน้อยพวกเขาก็รู้แล้วว่าจะต้องรับมือกันอย่างไร”
“บางครั้งการที่มหาวิทยาลัยลงพื้นที่อาจไม่ได้เข้าใจปัญหาที่แท้จริง เพราะไม่ใช่สิ่งที่ดำเนินการกันมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด-19 แต่ระหว่างที่ทำงานด้วยกันจะเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แม้ต้องใช้เวลาและมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เมื่อชุมชนและมหาวิทยาลัยเปิดใจ เชื่อมโยงถึงกันแล้วก็จะมีความเข้าใจกันมากขึ้น โดยต่อให้มีปัญหาหรือวิกฤติเกิดขึ้นอีกในอนาคต การร่วมมือกันเพื่อรับมือกับปัญหาต่าง ๆ จะง่ายขึ้นมาก ซึ่งต้องยอมรับว่า โครงการ U2T ได้สร้างพันธะหรือความผูกพันตรงนี้ขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
นั่นคือสิ่งที่ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. มองเห็นผ่านความสำเร็จของโครงการ U2T และเชื่อว่าหากเกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต ‘ความสัมพันธ์’ ระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่โครงการนี้ได้ก่อร่างสร้างฐานเอาไว้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ไขหรือบรรเทาวิกฤติที่กำลังจะมาถึงได้ไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ยังมีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของโครงการนี้ด้วย
“โดยส่วนตัวแล้ว โครงการนี้ทำให้ผมได้รับประสบการณ์และความเข้าใจในพื้นที่และชุมชนต่าง ๆ มากขึ้น เพราะแต่เดิมผมอยู่กับภาคอุตสาหกรรมมาตลอด เมื่อเรานำองค์ความรู้ที่มีไปสู่ชุมชนจึงทำให้เกิดผลกระทบในแง่บวก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากทีเดียว ขณะเดียวกัน ยังได้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ที่ได้กลับไปยังภูมิลำเนา ไปเจอกับปัญหาในพื้นที่ ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงความคิดไปเยอะเหมือนกัน เช่นเดียวกับการที่ได้เรียนรู้ว่ามหาวิทยาลัยในพื้นที่มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน รวมถึงได้เห็นถึงความตั้งใจของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กับความพยายามในการช่วยเหลือประเทศในห้วงเวลาวิกฤติด้วย”
นอกจากนี้ รองปลัดกระทรวง อว. ยังได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของกระทรวง อว. ในช่วงเวลาวิกฤติโควิด-19 โดยมองว่า องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของกระทรวง อว. สามารถนำไปปรับใช้กับวิกฤติต่าง ๆ ได้เกือบทุกสถานการณ์
“กระทรวง อว. เป็นกระทรวงแห่งการพัฒนา เพราะด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ของเรามีความพร้อมสูงมากในหลายด้าน เรามีมหาวิทยาลัยอยู่ทั่วประเทศ เรามีนิสิตนักศึกษา เราผลิตบัณฑิต เรามีคณาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถมากมาย รวมถึงมีองค์ความรู้ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ จึงแทบไม่มีเรื่องไหนที่คนในกระทรวง อว. จะแก้ไขปัญหาไม่ได้ ยกตัวอย่างในช่วงโควิด-19 ที่กระทรวง อว. แทบจะเป็นกระทรวงเดียวที่ทำได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย วัคซีน โรงพยาบาลสนาม หรือแม้แต่การจ้างงาน การเข้าไปพัฒนาพื้นที่ กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยงานสาธารณสุข รวมถึงเรื่องการบริการรับใช้สังคมต่าง ๆ ด้วย”
“จะเห็นได้ว่ากระทรวง อว. เป็นกระทรวงที่สามารถมีส่วนช่วยสนับสนุนและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้แทบทุกเรื่อง ซึ่งในฐานะคนของกระทรวง อว. ผมคิดว่า เราควรมีบทบาทในส่วนนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะโครงการที่มีส่วนช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคม เหมือนอย่างที่โครงการ U2T ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อว. ทำได้ดีและมีความพร้อมสูงมาก”
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.