วว. ต่อยอดวิจัยพัฒนาเพิ่มสารสำคัญของถั่งเช่าในพืชเพิ่มคุณค่าโภชนาการ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ สร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย?
"ถั่งเช่า" หรือ "เห็ดถั่งเช่า" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ophiocordyceps sinensis สามารถพบได้ในทิเบต มณฑลชิงไห่ มณฑลเสฉวน มณฑลยูนนาน มณฑลกานซู แถบเทือกเขาหิมาลัยในอินเดีย ภูฏาน และเนปาล ถั่งเช่าเป็นเห็ดราชนิดหนึ่งชอบขึ้นในช่วงฤดูหนาว และเป็นปรสิตที่อาศัยอยู่กับตัวอ่อนของหนอนชนิดหนึ่ง เมื่อถึงฤดูร้อนตัวหนอนจะตาย แล้วเห็ดราก็จะงอกออกจากตัวหนอน มีลักษณะเป็นเส้นตรงส่วนหัวของหนอน
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา ดำเนิน "โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอาหารปลอดภัย" ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ข้าวหอมมะลิ 105 ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ให้มีสารสำคัญทางยาสมุนไพร เช่น Cordycepin และ Adenosine ที่มีอยู่ในถั่งเช่า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดและช่วยเรื่องภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ป้องกันภัยคุกคามจากเชื้อโรคในปัจจุบัน และสารสำคัญอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ปัจจุบันเกษตรกร ตำบลหนองพระ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับ วว. อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาต่อยอด ที่จะทำให้เกิดสารสำคัญในข้าวสายพันธุ์อื่นๆ อีกหลายสายพันธุ์ รวมทั้งทำการทดลองกับพืชเกษตรชนิดอื่นที่มีอยู่ ในพื้นที่และมีศักยภาพเศรษฐกิจด้านสมุนไพร เช่น เตยหอม ต้นใบบัวบก ข่าตาแดง รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอม พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการแปรรูปใบข้าวที่มีสารสำคัญของถั่งเช่า โดยวิธีการสกัดให้เป็นผงสำหรับนำไปผสมกับอาหารอื่นๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ผงชงดื่ม เป็นต้น
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ทดสอบของห้องปฏิบัติการ วว. พบว่าในใบข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญของถั่งเช่ายังมีโปรตีนในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งสามารถต่อยอดองค์ความรู้นี้ไปสู่การแปรรูปเป็นโปรตีนจากพืช (Plant Based Protein) ที่มีทั้งสารสำคัญของถังเช่าและโปรตีนจากพืชที่เหมาะกับการลดน้ำหนัก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อมุ่งไปสู่ ZERO WASTE ตามนโยบาย BCG และเป็นการสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค สร้างงาน สร้างเงินให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน
การวิเคราะห์ทดสอบสารสำคัญในถั่งเช่าของ วว. ดังกล่าว นำไปสู่การพัฒนาเชิงนวัตกรรมในการผลิตข้าวที่มีสารสำคัญของถั่งเช่า รวมถึงการทดสอบปริมาณสารสำคัญอื่นๆ เช่น สารแกมมา โอริซานอล (Gamma Oryzanol) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ช่วยผ่อนคลายความเครียดและหลับสบาย ร่วมถึงช่วยพัฒนา ผลิตภัณฑ์ ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน อย. สนับสนุนการกล่าวอ้าง ทางสุขภาพ (Health Claim) บนฉลาก เพื่อเพิ่มมูลค่า ของผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางการขายด้วยการหาเอกลักษณ์ ของผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ได้รับความเชื่อถือจาก ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จากความสำเร็จและความพร้อมในการให้บริการดังกล่าว วว. จึงได้ขยายขอบข่ายต่อยอดการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มสารสำคัญของถั่งเช่าไปสู่พืชเกษตรอื่นๆ
อนึ่ง ข้าวสมุนไพรที่มีสารสำคัญของถั่งเช่า ซึ่ง วว. เข้าไปร่วมพัฒนาให้กับกลุ่มเกษตรกร ตำบลหนองพระ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ได้มีการจดอนุสิทธิบัตรในรูปการปลูกข้าวให้มีสารสำคัญของถั่งเช่าเรียบร้อยแล้ว โดยผลิตภัณฑ์ข้าวที่ปลูกในโครงการฯ ได้วางจำหน่ายใน ท้องตลาด ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์คอร์ดี้พาวเวอร์ไรซ์ (Cordy Power Rice) นอกจากนั้นยังสามารถนำใบข้าวมาผลิตเป็นชาชงดื่มเพื่อสุขภาพ และอยู่ในขั้นตอนการวิจัยต่อยอดการแปรรูปเป็นโปรตีนจากพืช (Plant Based Protein) ที่มีทั้งสารสำคัญของถังเช่าและโปรตีนจากพืชที่เหมาะกับการลดน้ำหนัก ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร อีกทั้งการนำซังข้าวไปเป็นปุ๋ยสำหรับใช้หมุนเวียนในระบบการเกษตรของกลุ่มด้วย นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของ วว. ในการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG ที่สามารถนำองค์ความรู้ที่เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยตอบโจทย์ให้แก่เกษตรกร
และผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรม
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.