ผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพร
"สมุนไพร" คือ พืช สัตว์ แร่ธาตุจากธรรมชาติที่ใช้ทำเป็น เครื่องยา โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างภายใน สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคและบำรุงร่างกายได้ สมุนไพรแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1.สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมาใช้ประโยชน์นั้น จะมีสารที่สามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือก เมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ และเปลือกไม้
2.สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก และน้ำมันตับปลา
3.สมุนไพรที่ได้จากแร่ โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ)นำมาใช้เป็นยา รักษาโรค เช่น เกลือ กำมะถัน น้ำประสานทองดีเกลือ และสารส้ม (ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี, 2560)
โดยสมุนไพรทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมานั้น หากจะนำมาใช้เพื่อบริโภคหรือเพื่อการรักษาตามกรรมวิธีจำเพาะ สามารถ จำแนกรูปแบบของสมุนไพรได้ดังนี้
1.รูปแบบที่เป็นของเหลว ได้แก่ ยาต้ม ยาชง น้ำคั้นสมุนไพร และยาดอง
2.รูปแบบที่เป็นของแข็ง ได้แก่ ยาปั้นลูกกลอน
3.รูปแบบกึ่งแข็งกึ่งเหลว ได้แก่ ยาพอก
4.รูปแบบอื่นๆ ที่มีลักษณะการใช้พิเศษ เช่น ใช้วิธีรมควัน เพื่อรักษาโรคของทางเดินหายใจ หรือการรมควันเพื่อรักษาแผล และให้มดลูกเข้าอู่ในสตรีภายหลังคลอด
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ยามีการพัฒนาจากแหล่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นยาจากสมุนไพร ยาสังเคราะห์หรือยาเคมี รวมทั้งยาที่ได้จากการเลียนแบบธรรมชาติ เช่น วิตามิน ฮอร์โมน เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพร จัดเป็นแหล่งใหญ่สำคัญของยารักษาโรค โดยยาแผนปัจจุบันแทบทุกชนิดมีการพัฒนามาจากสมุนไพรทั้งสิ้น เช่น ยาแก้ปวดจากฝิ่น อันได้แก่ มอร์ฟืน ยาแก้อาการไอ เช่น codeine เป็นต้น ยาสมุนไพรจึงมีความสำคัญต่อการคิดค้นยาใหม่ เนื่องจากสารสกัดบางชนิดมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาเองได้ แต่พืชสามารถผลิตสารเหล่านี้ได้ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษา วิจัย ค้นคว้าและพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจำนวนพืชสมุนไพรมีมากกว่าชนิดอื่น จึงถือได้ว่าพืชสมุนไพรเป็นแหล่งยาใหม่ที่สำคัญของโลก
การพัฒนายาจากสมุนไพรอย่างง่าย มีระยะเวลาของการวิจัยยาอย่างต่ำ 8-10 ปี โดยมีขั้นตอนโดยย่อ ดังนี้
1.การเก็บรวบรวมพืชสมุนไพรต้องให้ครบถ้วนส่วนของพืชที่นำมาใช้ต้องถูกต้องและมีอายุการเก็บที่เหมาะสม
2.ขั้นตอนการสกัดสารสำคัญ ได้เป็นส่วนสกัดหยาบ หรือส่วนสกัดแยกส่วน หรือส่วนสกัดบริสุทธิ์ แล้วนำไปศึกษาทางเคมี
3.ขั้นตอนการทดสอบผลทางชีวภาพ นำสารสกัดที่ได้มาทดสอบผลทางเภสัชวิทยาและประเมินความปลอดภัยกับสัตว์ทดลอง
4.ขั้นตอนการพัฒนารูปแบบยาเตรียม ได้เป็น ยาน้ำ แคปซูล ครีม เป็นต้น
5.ขั้นตอนการส่งทดสอบผลทางขั้นคลินิก โดยการทดสอบผลกับอาสาสมัครผู้ป่วย และการศึกษาผลข้างเคียง
การใช้สมุนไพรอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ (Allergic reactions) หรือสมุนไพรที่ทำให้เกิดความเป็นพิษ (Toxic reactions) เช่น สมุนไพรที่เกิดความเป็นพิษต่อตับ จากรายงานการใช้สมุนไพรใบขี้เหล็ก ในปี พ.ศ.2542 ในรูปแบบยาเม็ด(ยาเดี่ยว) ก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน หรือสมุนไพรที่เกิดความเป็นพิษต่อไต ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคไต เช่น ชะเอมเทศ มะขามแขก น้ำลูกยอ มะเฟือง เป็นต้น หรือสมุนไพรที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (Adverse effects) คือ การใช้สมุนไพรบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง หรือฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ที่สัมพันธ์และไม่สัมพันธ์กับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ต้องการ เช่น กระทียม แปะก๊วยก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เกิดเลือดออกได้ง่าย เป็นต้น
ดังนั้นในการเลือกใช้ยาสมุนไพรจะต้องมีความเข้าใจและสามารถใช้สมุนไพรได้ถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสมต่อการนำไปใช้ โดยมีหลักการเลือกใช้สมุนไพร "5 ถูก" คือถูกต้น ถูกส่วน ถูกขนาด ถูกวิธี และถูกโรค หากการใช้สมุนไพรผิดชนิด ผิดวิธี ไม่ว่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับชนิดของสมุนไพรที่มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน และมีความคล้ายคลึงกับพืชมีพิษบางอย่าง หรือจากการใช้สมุนไพรไม่ถูกชนิด รวมทั้งการนำมาใช้โดยผิดวิธี เช่น การใช้ผิดส่วน การนำมาปรุงยาแบบผิดวิธี จะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ได้ ดังนั้นการเลือกใช้ยาสมุนไพรเพื่อมุ่งประโยชน์ทางด้านการรักษา ต้องอาศัยความรู้และความชำนาญของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่สามารถตั้งตำรับยาหรือวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง เหมาะสมเฉพาะกับบุคคลและอาการของโรคด้วย นอกจากนี้จะต้องสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้สมุนไพร หากเกิดอาการผิดปกติในระหว่างการใช้สมุนไพร ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.