8 ผลงานสำคัญ ภายใต้ 5 ภารกิจ ในปี 65 จาก สอวช. เบื้องหลังนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ขับเคลื่อนประเทศ
- ยกระดับประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการพัฒนานโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม และข้อเสนอนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเร่งการเติบโตและบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรม
- สนับสนุนให้เกิดฐานกำลังคนสมรรถนะสูง รองรับการพัฒนาในอนาคต ผ่านการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสร้างศักยภาพสถาบันอุดมศึกษาและพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาไทย
- ยกระดับสถานะทางสังคมของคนในกลุ่มฐานราก ด้วยการขับเคลื่อนการยกระดับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจฐานราก
- มุ่งสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนฯ ด้วยการนำ อววน. มาหนุนเป้าหมาย GHG Net Zero รวมถึงการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อความยั่งยืน
- ปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้วยระบบบริหารจัดการภาครัฐและงบประมาณรูปแบบใหม่
ไปดูกันว่าในแต่ละผลงานจะมีความคืบหน้า หรือผลสำเร็จอย่างไรบ้าง
ยกระดับประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
?1. การพัฒนานโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม
?การสร้างความร่วมมือในการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม และระบบนิเวศนวัตกรรมทางวัฒนธรรมด้วยการวิจัยและนวัตกรรม โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับกระทรวง อว. โดย สอวช. ได้พัฒนาแนวทางความร่วมมือและบูรณาการงานด้านศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศิลปวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ ที่ส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของไทยในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อเป็นเสาหลักในการพัฒนาสังคมและยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างคุณค่าทางสังคม สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประเทศ
?การส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดย สป.อว. และ สอวช. ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอนโยบายการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยมีแนวคิดจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนเฉพาะทางสมรรถนะสูงกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอนุรักษ์ สืบสานองค์ความรู้รากฐานศิลปะและวัฒนธรรมไทย และต่อยอดเพื่อผลิตและพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์
?2. ข้อเสนอนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเร่งการเติบโตและบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรม
?มาตรการและกลไกสนับสนุนการสร้างความเชื่อมั่นในนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย โดย สอวช. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดำเนินโครงการการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศไทย ผ่านมาตรการบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยสนับสนุนหรืออุปสรรคต่อมาตรการบัญชีนวัตกรรมไทย รวมถึงเสนอแนะแนวทางพัฒนานโยบาย และออกแบบสนามทดลอง (Sandbox) เพื่อทำให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมไทยมากขึ้น
?การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม: Route 1 Innovation Economic Corridor โดย สอวช. ได้ทำการศึกษา และจัดทำข้อเสนอนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม โดยระบุอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ วัฒนธรรม (Cultural Industry) การศึกษา (Education Industry) และคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate Economy) จัดทำแผนที่การกระจายตัวของกิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งงานวิจัยนโยบายนี้ได้ถูกผลักดันสู่การกำหนดนโยบายระดับประเทศและภูมิภาค รวมถึงการริเริ่มโครงการนำร่องต่าง ๆ
ฐานกำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการพัฒนาในอนาคต
?3. พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
?แพลตฟอร์มบริหารจัดการการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิต และบริการ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และ สป.อว. พัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์และทิศทางการลงทุนของประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนากลไกการผลิตกำลังคนแบบเฉพาะเจาะจง (Tailor-made) กับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
?สนับสนุนมาตรการ Thailand Plus Package โดยในปี 2565 ได้รับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร และการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ แล้วกว่า 540 หลักสูตร จาก 52 หน่วยฝึกอบรม และรับรองการจ้างงาน จำนวน 1,741 ตำแหน่งงาน จาก 59 บริษัท มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 15,388 คน จาก 608 องค์กร รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงาน และบริการเบ็ดเสร็จ (STEM One-Stop Service) ขึ้นมาเพื่อให้บริการและให้คำแนะนำด้านการฝึกอบรมและการจ้างงานบุคลากรด้านสะเต็มด้วย
?แพลตฟอร์มการใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ อุตสาหกรรมเป้าหมายและสาขาสนับสนุน เพื่อยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรม เศรษฐกิจฐานรากและชุมชนท้องถิ่น (Talent Thailand Platform) โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำฐานข้อมูลกำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายการพัฒนากำลังคน และจัดทำแพลตฟอร์มการใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ (Talent Utilization Platform for National Talent Pool) ซึ่งในปี 2565 ได้มีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลกำลังคนที่มีศักยภาพสูงด้านดนตรี 5 กลุ่ม ได้แก่ ดนตรีแจ๊ส ดนตรีพื้นเมืองสี่ภาคเเละชาติพันธุ์ ดนตรีคลาสสิก ดนตรีสมัยนิยม และดนตรีไทย ซึ่งมีกำลังคนศักยภาพสูง 1,531 คน จากแขนงความเชี่ยวชาญ 33 สาขา สาขาความเชี่ยวชาญ 30 สาขา และความถนัดตามด้านดนตรี 30 สาขา
?4. การสร้างศักยภาพสถาบันอุดมศึกษา และพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาไทย
?การจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) กระทรวง อว. โดย สป.อว. และ สอวช. ซึ่งในปี 2565 มีมติอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ และให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาในรูปแบบ Higher Education Sandbox จำนวน 4 ข้อเสนอ โดยมีเป้าหมายผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ รวมจำนวน 17,455 คน
?ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของประเทศ (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยได้ร่วมกับ มทร. จัดทำยุทธศาสตร์ พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์ของกลุ่ม มทร.
?แผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Action Plan) มหาวิทยาลัยราชภัฏ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยได้ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ. มรภ.) จัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาข้อเสนอนโยบายและข้อริเริ่มสำคัญของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน สังคมและเศรษฐกิจ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นกำลังสำคัญของพื้นที่
ยกระดับสถานะทางสังคมของคนในกลุ่มฐานราก
?5. การขับเคลื่อนการยกระดับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจฐานราก
?สร้างต้นแบบแนวทางลดความเหลื่อมล้ำด้วยนวัตกรรมภาครัฐ ผ่านกระบวนการพัฒนานโยบายแบบมีส่วนร่วมใน 3 พื้นที่นำร่อง จนได้ 3 ต้นแบบนโยบาย ได้แก่
ต้นแบบนโยบายกุดบากออนซอน ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร เพื่อมุ่งสู่การเป็นชุมชนที่มีอาชีพเสริม สร้างรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ผ่านความเห็นชอบร่วมกันของกลุ่มครัวเรือนเป้าหมาย ผู้แทนจากหน่วยงานท้องถิ่นต้นแบบนโยบายแก้ไขปัญหาความจนด้วยการพัฒนาและต่อยอดทักษะการประกอบอาชีพ (upskill/reskill) ตำบลหล่ายงาว อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย มุ่งเน้นการนำเอาองค์ความรู้จากงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเผยแพร่ให้แก่ชุมชน เพื่อพัฒนาต่อยอด ยกระดับขีดความสามารถในการประกอบอาชีพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ต้นแบบนโยบายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนดอยงามและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ตำบลดอยงาม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่และชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และสร้างความเข้มแข็ง
?ต้นแบบข้อเสนอกลไกกองทุนพลังงานชุมชน (BCG Community Energy) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกของชุมชน โดยร่วมกับกระทรวงพลังงาน จัดทำข้อเสนอกลไกกองทุนพลังงานชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ชุมชน/รายย่อย ผู้ประกอบการคนกลาง (Value-added Aggregator) หรือผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีพลังงาน (Service Provider) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกได้ โดยลดการพึ่งพาจากภาครัฐ และช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศ ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีพลังงานทางเลือกในระดับชุมชน และเพื่อประโยชน์ในการทำแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 และเป็นกรอบการทำงานสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ในการร่วมขับเคลื่อนวาระแห่งชาตินี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนฯ
?6. นำ อววน. หนุนเป้าหมาย GHG Net Zero
?จัดทำกรอบนโยบายระบบนิเวศนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน: วิสัยทัศน์ 2030 โดยมีข้อเสนอแนะทั้งกรอบยุทธศาสตร์เป้าหมายแผนที่นำทาง (Roadmap) การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 7 Flagship ที่สำคัญ เป็นส่วนหนึ่งในการวางนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
?จัดทำข้อเสนอการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงให้ไปสู่อุตสาหกรรม (EV Conversion Industrialization) ในรูปแบบต่าง ๆ และเกิดการผลักดันเชิงนโยบายในการใช้งาน EV Conversion โดยเริ่มจากการใช้ตลาดภาครัฐ และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยได้ร่วมในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ให้ครอบคลุมประเภทของยานพาหนะให้กว้างขวางมากขึ้น
?7. การจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อความยั่งยืน
?พัฒนากรอบการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประกอบในการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบ โครงสร้าง กลไก โดยเสนอการแก้ปัญหา และผลลัพธ์ของทางเลือกรูปแบบด้านการจัดการน้ำในด้านต่าง ๆ ให้แก่คณะกรรมการกำกับโครงการการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบ โครงสร้าง และกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ
ปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
?8. ระบบบริหารจัดการภาครัฐและงบประมาณรูปแบบใหม่
?ข้อเสนอการจัดตั้งสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน) หรือ รวพ. เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ การสร้างรากฐานไปสู่อุตสาหกรรมและกิจการแห่งอนาคต การพัฒนาพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้ง ขับเคลื่อนและเร่งรัดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงระดมทุนจากบุคคลทั่วไปหรือหน่วยงานอื่นเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม และการนำผลงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือเชิงสังคม
?ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการศึกษาแนวทางการจัดสรรงบประมาณการอุดมศึกษาเพื่อสนองต่ออุปสงค์ (Demand-side Financing) โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ศึกษาระบบงบประมาณการผลิตและพัฒนากำลังคนในลักษณะ Demand-side Financing เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และนำผลมาพัฒนาเป็น “ข้อเสนอ (Roadmap) แนวทางการพัฒนาระบบการจัดสรรและบริหาร งบประมาณด้านการอุดมศึกษาแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์” โดยใช้หลักการ Demand-side Budgeting
เพราะทุกก้าวของประเทศสําคัญ เราจึงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลลัพธ์ ด้วยพลังจากนโยบาย อววน.
ที่มา : สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
https://www.nxpo.or.th/th/15668/
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.